กนอ.โชว์ 3 โครงการขานรับ BCG Model
กนอ. โชว์ 3 โครงการขานรับ “BCG Model” จับมือ ส.อ.ท.เดินหน้าโครงการสมาร์ทอีโค-ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ขณะนี้ 3 โครงการ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งโครงการแรกได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่เป็นมาตรฐานสำหรับโรงงาน สอดคล้องตามแนวคิด BCG Economy Model
สะท้อนผลการดำเนินงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสนองตอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคุณลักษณะที่สำคัญของ Eco Factory คือ มีการปล่อยของเสียเป็นศูนย์หรือมีของเสียเกิดน้อยที่สุด ใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Resources and Energy Efficiency) มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้มาตรฐาน (Environment Management System) การดำเนินกิจกรรมที่น่าเชื่อถือ (Reliable Production Activities) เกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสังคมโดยรอบ (Symbiosis with community)
โดย กนอ.สนับสนุนที่ปรึกษาเข้าให้คำแนะนำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในการดำเนินงานตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.รวมทั้งร่วมมือกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO) ในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการที่ 2 กนอ.ดำเนินโครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดการเกิดของเสีย และหมุนเวียนทรัพยากรเหลือใช้มาใช้เป็นวัตถุดิบ (Waste as a resource) สำหรับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดย กนอ.จะสนับสนุนที่ปรึกษาเข้าให้คำแนะนำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ในการลดการเกิดของเสียและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ในโรงงาน และโครงการที่ 3 กนอ. สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมลดก๊าซเรือนกระจก โดย กนอ. จะสนับสนุนที่ปรึกษาเข้าให้คำแนะนำกับโรงงานอุตสาหกรรม สำรวจและประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก
“ผลสำเร็จของโครงการในปีงบประมาณที่ผ่านมา เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระถางและอิฐประดับจากตะกอนชีวภาพระบบบำบัดน้ำเสียรวมของนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycling product) จากเปลือกลูกอมในโรงงานผลิตลูกอมและหมากฝรั่ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูดซับกลิ่น จากระบบบำบัดอากาศเสียด้วยคาร์บอน (Activated carbon) และการพัฒนาเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จากตะกอนระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.” นายวีริศ กล่าว