ดีพร้อม ดัน ภาคเหนือ แลนด์มาร์คกาแฟอาราบิก้า
ดีพร้อม ติดสปีดผู้ประกอบการ “กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบน” โตทะลุ 5 พันล้าน พร้อมปรับแนวทางธุรกิจคาเฟ่ครบวงจร รับยุคชีวิตวิถีใหม่
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดกาแฟในประเทศไทยอยู่ที่ 42,537 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟสด 4,119 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 อัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 % ต่อปี ส่วนกาแฟสำเร็จรูปอยู่ที่ 38,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.3 และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8 % ต่อปี และเมื่อศึกษามูลค่าในระดับโลกยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในช่วงระหว่างปี 2564 – 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% และมีมูลค่าที่สูงมากถึง 191.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาภาพรวมในตลาดกาแฟ พบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการ ต้องปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ การลดบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านจากมาตรการล็อกดาวน์ ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด – 19 และเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การดื่มกาแฟสด รวมทั้ง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น
จากปัจจัยดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ เพื่อให้อุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น
โดยในปี 2565 ดีพร้อม จึงได้วางแนวทางผลักดันให้ผลผลิตจากเกษตรกร-ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มพรีเมียม กลุ่มผู้รักสุขภาพ รวมถึงธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ผ่านการพัฒนาคุณภาพและรสชาติแทนการเพิ่มปริมาณเพื่อเจาะตลาดกาแฟพิเศษ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบและให้ความสำคัญกับกลิ่น รสชาติ ลักษณะเฉพาะ และเรื่องราว (Storytelling) ของเมล็ดกาแฟที่มาจากแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับกาแฟของภูมิภาคและสามารถขายได้ในราคาสูง
โดยภายใต้เป้าหมายดังกล่าว มีกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การผลิตและเพาะปลูกบนดอยรวมกว่า 20 แห่ง ซึ่งจะพัฒนาทั้งพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่เหมาะสมกับแต่ละลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ การนำผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ มาร่วมพัฒนาเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟกลิ่นส้ม ผลิตภัณฑ์กาแฟเข้มข้น การผลักดันให้สินค้าใกล้เคียงกับมาตรฐานโลก และยกระดับศักยภาพให้เป็นพื้นที่สำคัญของการเพาะปลูก – การแปรรูปในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในระดับโลกต่อไป