หอการค้าญี่ปุ่นยันไม่ทอดทิ้งไทย
สมาคมไทย-ญี่ปุ่น ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และสภาหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Post-COVID-19: Rain or Sunshine?” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวต่อไปหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 และภาครัฐมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานโดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า “เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 และกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ในช่วงหลังโควิด ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะเปลี่ยนไปและเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น เราต้องเสริมสร้างอุตสาหกรรมหลักของไทยให้แข็งแกร่ง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ health care อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Climate Change”
นายคาซูยะ นาชิดะ (Mr. Kazuya Nashida) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มีความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นในอนาคตว่าจะก้าวสู่ “การสร้างสรรค์ร่วมกัน (a partnership of co-creation)” โดยไทยและญี่ปุ่นจะสร้าง สรรค์คุณค่าใหม่และนวัตกรรมร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาร่วมกัน และส่งเสริมซึ่งกันและกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางของนโยบายภาครัฐ” ถึงแม้ว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คลังของไทยยังแข็ง แกร่ง ภาครัฐมีสภาพคล่องมากพอที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้ ในส่วนของความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะที่มีการขยายเพดานเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% ของ GDP รัฐบาลมุ่งเน้นความสามารถในการชำระหนี้ โดยการดูแลให้รายได้ภาครัฐกับภาระดอกเบี้ยมีความสอดคล้องกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็น climate change รัฐบาลมีแผนสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงแผนการปฏิรูปโครงสร้างประเทศที่คำนึงถึงประเด็นเชิงโครงสร้างทั้งการขาดแคลนแรงงาน การศึกษา สังคมผู้สูง อายุ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึงการมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงการยกระดับมูลค่าห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศมากขึ้น
ในส่วนของเสวนาในหัวข้อ “การปฏิรูปกฎระเบียบภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจ” การพัฒนาระบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับ digital transformation โดยการปรับกระบวนงานและจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า “เราจะมุ่งไปสู่ digital government ซึ่งตอบโจทย์ภาคธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ และประชาชน” หลังจากนั้น ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ยังกล่าวเสริมว่า “เพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลวางแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries) เช่น กฎระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยหลักการในการปฏิรูปกฎหมายมี 3 ประการด้วยกัน คือ ความถูกต้อง ความจำเป็น และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ
ในช่วงสุดท้าย นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานอาวุโส สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด ท่ามกลางประเด็นท้าทายหลายหลายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ภาครัฐและเอกชนมีความร่วมมือที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด ทั้งนี้ ประเด็นต่างๆ ที่ได้ถูกหยิบยกมากล่าวในงานสัมมนานี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต”