รัฐบาลเข้มสกัดแรงงานเถื่อนลักลอบเข้าไทย
โฆษกรัฐบาลเผย นายกรัฐมนตรีกำชับ ฝ่ายความมั่นคง-มหาดไทย-แรงงาน คุมเข้มแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เร่ง MOU แก้ปัญหาขาดแรงงานและการลักลอบเข้าเมือง เปิดลงทะเบียน 1 ธ.ค. นี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเป็นห่วงคือปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงได้รับรายงานการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มงวด สกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนและจุดเสี่ยงช่องทางธรรมชาติรอบด้านทุกช่องทาง ล่าสุด กองกำลังสุรสีห์หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้าร่วมกับชุดปฏิบัติการข่าวกองกำลังสุรสีห์หมวดป้องกันชายแดนที่ 1 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 134 อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ที่ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย จำนวน 47 คน กองกำลังบูรพา กรมทหารพรานที่ 12 กรมทหารพรานที่ 13 หน่วยเฉพาะกิจอรัญประเทศ หน่วยเฉพาะกิจตาพระยา จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวกัมพูชาได้ 35 คน ทั้งหมดต้องการไปทำงานในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครปฐม ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุหลัก คือ การขาดแคลนแรงงานในโรงงาน ก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี นำเข้าแรงงานตาม MOU แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา อย่างถูกกฎหมายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้นายจ้างและสถานประกอบการในประเทศมีแรงงานในกิจการเพียงพอ ซึ่งจะเริ่มเปิดลงทะเบียนในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ 8 ขั้นตอนนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู ดังนี้
1. นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน
2. การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง
3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง
4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
5. กกจ.มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้
6. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี
7. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT – PCR
8. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เร้นซ์ ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ
นายธนกร กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ รวมถึงตัวแทนของผู้ประกอบการ/นายจ้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือหารือถึงความชัดเจนเงื่อนไขและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายได้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าของกิจการหรือนายจ้างช่วยกันเปิดประเทศ “แบบนิวนอร์มอล” ที่มีความปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและแรงงานด้วย