สอน.ผุดตลาดกลางซื้อขายเครื่องจักรออนไลน์
สอน. ผุดตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เล็งปั้นโมเดลปลูกอ้อย กว่า 2,000 ไร่ ต้นแบบการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่า 1,000 บาทต่อไร่
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากผลพวงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 สอน. ยังเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางเครื่องจักรที่ใช้ในไร่อ้อย บนเว็บไซต์ www.Raiaoi.com เพื่อเป็นตลาดกลางเชื่อมโยงชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทั้งที่ขายและให้เช่าได้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ช่วยให้ชาวไร่อ้อยเข้าถึงข้อมูลและเครื่องจักรที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ รถตัดอ้อย รถไถ รถสาง รถพรวนดิน แล็บเตอร์ เป็นต้น ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
“สอน. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทางการเกษตรทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทั้งขายและให้เช่า เช่น คูโบต้า ฟอร์ด แคต ช้างแทรคเตอร์ สยามอิมพลีเม้น และอื่นๆ ฯลฯ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้าสินเชื่อซื้อเครื่องจักรทางการเกษตรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็สามารถเข้าร่วมโครงการขาย/ให้เช่าเครื่องจักรบนเว็บไซต์ไร่อ้อยได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการตัดอ้อยให้ได้อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเครื่องตัดต่อปี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เพิ่มรายได้ให้เจ้าของเครื่องจักรคืนทุน”
นายเอกภัทร กล่าวว่า ที่สำคัญยังสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดลดปริมาณการตัดอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง โดยฤดูการผลิตปี 2564/2565 สอน. ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการตัดอ้อยไฟไหม้เหลือ 10% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยปีนี้คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 85 ล้านตัน (ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563/2564 ที่มีอ้อยไฟไหม้เกือบ 27% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด 66.65 ล้านตัน และลดลงจากปี 2562/2563 ที่มีอ้อยไฟไหม้ประมาณ 49%) และฤดูการผลิตปี 2565/2566 ตั้งเป้าหมายตัดอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 5% และปี 2566/2567 เป็น 0% เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อยเป็นการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างถาวร
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเสาะหาพันธมิตรทำแปลงปลูกอ้อยแบบรวมแปลงใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องขนาดไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ภายในปีนี้ เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างในการเพาะปลูกและการบริหารจัดการต้นทุนที่เป็นมาตรฐาน ตั้งเป้าหมายให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนปลูกอ้อยต่ำกว่า 1,000 บาทต่อไร่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,200-1,400 บาทต่อตันต่อไร่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มีผลผลิตสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 ตันต่อไร่ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ตันต่อไร่ ภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อยยังสามารถตรวจสิทธิ์เงินช่วยเหลือของตนเองได้ในโครงการตรวจสิทธิ์อ้อย บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงสแกนคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ไลน์ “ตรวจสิทธิ์อ้อย” และ สอน. จะมุ่งพัฒนาระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ที่ไร้เอกสารอย่างต่อเนื่อง เป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในโครงการบริหารจัดการข้อมูลจากไร่อ้อยสู่โรงงาน ที่รวบรวมข้อมูลชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลแต่ละคู่สัญญาเกี่ยวกับพื้นที่ พันธุ์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ วิธีการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนและจัดโซนพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสม ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ