หมอกควันอันตรายคลุมกรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานครมีหมอกควันปกคลุมหนาแน่นมา 2 – 3 วันแล้ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเตือนถึงภัยร้ายแรงของคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน
ทางการต้องจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯอย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อให้มีมาตรการบรรเทาในการปกป้องสุขภาพของประชาชน นักวิชาการระบุ ขณะเตือนถึงค่าใช้จ่ายที่จะสูงตามไปด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ประเทศจะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มอีกนับพันล้านบาทจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหามลพิษที่ปกคลุมกรุงเทพฯ ให้หมดไป
มลพิษในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงอยู่ในระดับอันตรายต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เมื่อวันที่ 13 ม.ค. และสถานการณ์อาจจะยังคงรุนแรงต่อไปอีกหนึ่งเดือนจากสภาพอากาศ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุ เขากังวลว่า หน่วยงานภาครัฐและประชาชนประเมินอันตรายจากมลพิษในอากาศต่ำเกินไป และมาตรการป้องกันและบรรเทายังไม่เพียงพอ
คนกรุงเทพฯ จำนวนมากตื่นขึ้นมาในตอนเช้าของวันที่ 13 ม.ค.เพื่อพบว่ามหานครแห่งนี้มีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น ทำให้ทัศนวิสัยย่ำแย่ ลดการมองเห็นเหลือเพียงแค่ 1 ก.ม.ในบางพื้นที่ นี่ไม่ใช่หมอกในฤดูหนาวตามปกติ แต่เป็นกลุ่มหมอกควันอันตรายที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมลพิษทางอากาศอื่นๆ อ้างอิงจากเว็บไซต์เฝ้าระวังมลพิษทางอากาศของจีนคือ http://aqicn.org. โดยในเว็บไซต์รายงานว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 (AQI)
ในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 13 ม.ค.สูงถึง 195 ซึ่งเป็นระดับอันตราย โดยเขตบางเขน มีค่า PM2.5 AQI สูงที่สุดอยู่ที่ 394 ในช่วงเช้าวันที่ 13 ม.ค. ทางเว็บไซต์คาดการณ์ว่า กรุงเทพฯจะมีมลพิษในอากาศแตะระดับอันตรายในช่วงเช้าไปตลอดทั้งสัปดาห์ เพราะมีลมพัดน้อยมาก
“มลพิษทางอากาศเป็นภัยเงียบที่สังหารแราได้ และคนไทยประเมินอันตรายจากมลพิษต่ำเกินไป เราเห็นคนสวมหน้ากาก หรือติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้านไม่มากนัก” ดร.วิษณุกล่าว
“ เรารู้ว่ามลพิษในอากาศไม่ใช่ปัญหาใหม่ในกรุงเทพฯ และหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษมีมาตรการบรรเทาเพื่อรับมือกับปัญหาอยู่แล้ว แต่คำถามของเราคือมาตรการเหล่านี้มีการปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด และสามารถบรรเทาปัญหาได้จริงหรือ ” เขากล่าว
ดร.วิษณุย้ำถึงความสำคัญที่ทางการต้องจัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง และแก้ที่ต้นตอของปัญหา เขาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบไซต์ก่อสร้างและจำกัดปริมาณรถยนต์บนถนน มากกว่าที่จะให้ประชาชนสวมหน้ากาก และเขากระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวและแพร่กระจายข่าวเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญอนามัยสิ่งแวดล้อมเตือนว่า ค่า PM2.5 เป็นอันตรายมากเพราะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถทะลุผ่านเข้าไปในปอดและกระแสเลือดได้ การหายใจเข้าไปเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เขาเสริมว่าเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษที่ต้นตอ ด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง ควบคุมมลพิษจากการคมนาคมขนส่งและควบคุมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล.