กกร.หนุนรัฐออกมาตรการ “ช๊อปดีมีคืน”
กกร.เริ่มมั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่นอน หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.ต้อนรับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักได้ดีดังเดิม ยันจีดีพีไทยปีนี้ โต 0.5-1.5% รอดพ้นตกเหว แนะรัฐบาลฟื้นช๊อปดีมีคืน กระตุ้นเศรษฐกิจส่งท้ายปีใหม่ต้อนรับปีเก่า
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย แถลงภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 โดยระบุว่า การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นมา ช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี การเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ซึ่งเริ่มเห็นได้จากข้อมูลเร็ว หรือ High Frequency Data เช่น การค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และการเดินทางในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงคาดการณ์อัตราการเข้าพักที่ผู้ประกอบการโรงแรมมองว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ในเดือนพ.ย. เทียบกับ 15% ในเดือนก.ย. ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยในภูมิภาคดีขึ้น ส่วนภาคการค้าปลีกมองว่าผ่านจุดต่ำสุดที่ไตรมาส 3 มาแล้ว สอดคล้องกับมองของนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยก็เชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ทำให้คาดการณ์ว่าภาพเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะมีความคึกคักมากขึ้น และพร้อมๆ กับมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
จากการเตรียมการของผู้ประกอบการเพื่อรับการเปิดเมือง ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่ผ่านมา โดยภาคเอกชนยังหวังว่าภาครัฐจะเสริมมาตรการด้วย มาตรการช๊อปดีมีคืน จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปลายปีนี้กลับมาคึกคักมากขึ้นและต่อเนื่องไปยังปีหน้า
นอกจากนั้นเพื่อเป็นการให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางภาคเอกชนก็เชื่อว่า หากภาครัฐมีการผ่อนคลายและโปรโมตกิจ กรรม เทศกาล ทั้งงานลอยกระทง และงานปีใหม่ได้ ก็จะเป็นตัวเสริมให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางทั้งในและต่างประเทศ โดยควรย้ำว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงในขณะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นการระบาดด้วย
ภาคการผลิตของไทยยังสามารถเติบโตได้ แต่เผชิญปัญหาอุปทานตึงตัวเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ปัญหาอุปทานตึงตัวส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้ต้องชะลอการผลิตและไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากเท่ากับที่ตลาดต้องการ และส่งผลให้ราคาสินค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำปรับตัวสูงขึ้นมาก ในประเด็นนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นราว 5% เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ผู้ส่งออกยังต้องเผชิญกับต้นทุนค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์และการขาดแคลนตู้ส่งสินค้า จึงต้องติดตามภาวะต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า สถานกาณ์ที่ดีขึ้นทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวในกรอบ 0.5% ถึง 1.5% ส่วนการส่งออก กกร. ยังคงคาดว่ามีแนวโน้มจะขยายตัว 12.0% ถึง 14.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2% ซึ่งมองว่าตัวเลขนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดซ้ำเพิ่มเติมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ ประเด็นของ กกร. ที่ได้หารือกันในวันนี้ นอกจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หารือกันแล้ว ยังได้มีการคุยถึงประเด็นดังต่อไปนี้
1. สำหรับการอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และ นักลงทุน ที่เข้าออกประเทศไทย โดยภาครัฐควรเร่งเจรจาให้มีมาตรการลดหย่อน ตอนขากลับประเทศปลายทางด้วย เพื่อจะได้ไม่โดนการกักตัวและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อเดินทางกลับ รวมถึงมีการสื่อสารข้อมูลที่อัพเดทและถูกต้องให้นักเดินทางด้วย ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยว ในปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้
2. การเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ โดย CPTPP ซึ่งภาคเอกชนได้ส่งผลการศึกษาของภาคเอกชนให้ทางภาครัฐและภาคประชาสังคมไปแล้ว เพื่อเร่งให้ เข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะหากช้าก็จะทำให้เสียโอกาส พร้อมกับต้องเพิ่มการเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศที่จะเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกประเทศร่วมกัน
3. การเตรียมความพร้อมของการเป็นเจ้าภาพ APEC ในปีหน้า ที่ทางภาครัฐจะใช้ BCG เป็นหัวข้อในการหารือภายใต้ Theme “Open Connect Balance” ซึ่งภาคเอกชนก็เห็นถึงความสำคัญประเด็นนี้ และพร้อมที่จะร่วมจัดงานกับภาครัฐด้วย โครงการภาคเอกชนจัดงานภายใต้ Theme “Embrace Engage Enable”
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทย ได้ชี้แจงกรณีตัดเงินผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานระบบการชำระเงิน ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และวางมาตรการป้องกันปัญหาเชิงรุก พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกรรมบัตรเดบิตสำหรับร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศ พร้อมกันนี้สมาคมธนาคารไทย ได้ออกสื่อประชาสัมพันธ์ แนะ 10 แนวทางทำธุรกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัย เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้ามากยิ่งขึ้น