คลังหาแหล่งเงินกู้ “ใน-นอกประเทศ” ปีนี้ 2.3 ล.ล.
สบน.แจงรัฐบาลไทยกำลังมองหาแหล่งเงินกู้ปี 65 รวม 2.3 ล้านล้านบาท ชี้!เป็นหนี้เก่าที่ต้องรีไฟแนนซ์ 1.19 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ใหม่ 1.12 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบ’65 ทะยาน 62% ของจีดีพี เผย! หากตลาดเงินในไทยตึงตัว พร้อมออกบอนด์กู้ต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก.คลัง เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ “ออมไปด้วยกัน” 2 รุ่น วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ขายให้ประชาชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เริ่ม 22 และ 24 พ.ย. – 3 ธ.ค.นี้
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงแผนการกู้เงินในปี 2565 ว่า รัฐบาลกำลังมองหาแหล่งเงินกู้ ทั้งในส่วนที่เป็นหนี้เก่า ซึ่งครบกำหนดและต้องกู้ใหม่ รวมถึงการรีไฟแนนซ์ที่มีเงื่อนไขดีกว่า และหนี้ก้อนใหม่ รวมกันประมาณ 2.3 ล้านล้านบาทเศษ โดยในส่วนหนี้เก่า 1.19 ล้านล้านบาท ได้ถูกจับรวมไปอยู่ในหนี้สาธารณะไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น จึงมีเพียงหนี้ก้อนใหม่ 1.12 ล้านล้านบาท เท่านั้น ที่จะนำไปบวกเพิ่มเป็นหนี้สาธารณะ
โดยในส่วนหนี้ก้อนใหม่ที่อยู่ระหว่างการกู้เงินนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการขาดดุลงบประมาณปี 2565 ราว 7 แสนล้านบาทเศษ และเป็นเงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่มีการกู้ไปเมื่อปีงบประมาณ 2564 แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านบาทเศษจะกู้ในปีงบประมาณนี้ นอกจากนี้ ยังมีการกู้เงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอีกราว 3-4 หมื่นล้านบาท
“เราไม่ปิดกั้นเรื่องการกู้เงินเฉพาะแต่ตลาดในประเทศ โดยเปิดกว้างสำหรับการกู้เงินในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับว่าตลาดในประเทศอยู่ภาวะตึงตัวหรือไม่ หากตึงตัวเราก็พร้อมจะออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินในต่างประเทศ เพียงแต่จะต้องรอดูสถานการณ์และเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ ก็มีแหล่งเงินกู้หลายแห่งเสนอเงื่อนไขที่ดีมาให้เราได้พิจารณาบ้างแล้ว” นางแพตริเซีย ย้ำ
สำหรับสัดส่วนการก่อหนี้สาธารณะนั้น ผอ.สบน. ยอมรับว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 ก.ย.2564) ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ฯราว 57.98% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม หากสามารถกู้เงินได้ตามแผนการเดิมที่วางไว้แล้ว จะทำให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 (30 ก.ย.2565) ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะราว 62% ของจีดีพี ทั้งนี้ ขึ้นกับฐานของจีดีพี ณ ขณะนั้นด้วย ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 สบน.ได้อิงตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์ที่ 1% และ 4% ในปี2565
วันเดียวกัน นางแพตริเซีย แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” โดยระบุว่า กระทรวงการคลังจะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรฯดังกล่าว โดยได้เพิ่มวงเงินจำหน่ายเป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม และจ่ายดอกเบี้ย ให้ประชาชนทุก 3 เดือน ประชาชนสามารถเลือกลงทุนได้ 2 รุ่นอายุ และซื้อได้ทั้งในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้
1. รุ่นออมไปด้วยกันบนวอลเล็ต สบม. จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี และ รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาธนาคารกรุงไทย สำหรับการซื้อครั้งแรก) ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท – 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. – 3 ธ.ค.2564
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่านพร้อมเพย์จากทุกธนาคาร หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทยกับ วอลเล็ต สบม. รวมถึงเติมเงินสดด้วย Wallet ID ได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เพื่อเตรียมซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานวอลเล็ต สบม. ได้ที่ Call Centerโทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
2. รุ่นออมไปด้วยกัน จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาทและไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง โดยจะจำหน่ายให้กับประชาชนก่อนนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด 2 วัน เพื่อบริหารจัดการการใช้บริการ ณ สาขาธนาคารของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ หากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดยวันจำหน่าย วงเงิน และรุ่นอายุ ดังนี้
1)จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 55,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. – 3 ธ.ค. ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำหน่ายทั้งในช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
2)จำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด รุ่นอายุ 10 ปี วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. – 3 ธ.ค. อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.20 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทาง Counter ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
ทั้งนี้ วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง และกระทรวงการคลังสามารถปรับเพิ่ม/ลดวงเงินทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม
อนึ่ง สบน. ได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง.