“รองนายกฯ ประวิตร” สั่ง กอนช. เร่งลดภัยน้ำท่วมให้ประชาชน
“รองนายกฯ ประวิตร” สั่ง กอนช. เร่งลดภัยน้ำท่วมให้ประชาชน พร้อมจับตา 5 เขื่อนน้ำน้อย เตรียมประชุมอนุฯอำนวยการน้ำ 29 ต.ค.
“รองนายกฯ ประวิตร” กำชับ กอนช. เกาะติดแผนบริหารจัดการน้ำท่วมต่อเนื่อง แม้ภาพรวมระดับน้ำลดลง ได้สั่งเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำที่ระดับน้ำยังล้นตลิ่ง ซักซ้อมแผนรับมือฝนภาคใต้ พร้อมจับตา 5 เขื่อนใหญ่น้ำน้อย เร่งกักเก็บน้ำใช้แล้งหน้า เตรียมเสนอแผนจัดสรรน้ำช่วงแล้ง-มาตรการรับมือเข้าที่ประชุมอนุฯอำนวยการน้ำ พิจารณา 29 ต.ค.นี้
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความห่วงใยต่อประชาชนที่ยังคงประสบปัญหาอุทกภัย ได้กำชับให้ กอนช. เฝ้าติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำต่อเนื่อง แม้อิทธิพลของพายุโซนร้อน “หมาเหล่า” จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ซึ่งในขณะนี้ยังคงมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีน รวมทั้งลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ที่อาจส่งผลให้หลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้แม้หลายพื้นที่จะมีแนวโน้มลดลง แต่ กอนช.ยังคงเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำที่ระดับน้ำยังล้นตลิ่งอยู่ อาทิ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร และยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล บริเวณ 8 อำเภอ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ผักไห่ เสนา บางบาล บางไทร บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ท่าเรือ และนครหลวง ส่วนบริเวณลุ่มน้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 1-2 วันที่ผ่านมา มีฝนตกบริเวณ จ.เลย และ จ.ชัยภูมิ ส่งผลให้ระดับน้ำที่ อ.เมืองชัยภูมิ มีระดับน้ำสูงขึ้นเล็กน้อย และสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูล ที่ยังคงมีน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ราศีไศษ จ.ศรีสะเกษ และ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ด้านสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศล่าสุดมีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 37,086 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% ของระดับน้ำเก็บกัก ซึ่งภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำใช้การสูงสุด คิดเป็น 91% ของระดับน้ำเก็บกัก ภาคตะวันตก 87% ของระดับน้ำเก็บกัก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 83% ของระดับน้ำเก็บกัก ตามลำดับ โดย กอนช.ยังคงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (URC) จำนวน 17 แห่ง พร้อมกำชับให้หน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด อาทิ เขื่อนทับเสลา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำตะคอง รวมทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ที่คาดการณ์ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ กอนช.จะติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้กำชับแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ แม้ว่าสถานการณ์น้ำภาพรวมจะอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก แต่ยังคงมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำต่ำกว่าเกณฑ์การเก็บกักน้ำต่ำสุด (LRC) ถึง 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง จึงได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยเร่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการทุกหน่วยงานพร้อมเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 พร้อมมาตรการป้องกันผลกระทบการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำน้อย ในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564 ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันศุกร์ที่ 29 ต.ค.นี้” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย