สอน. พร้อมจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยตามกม.
สอน. ยันกองทุนฯ พร้อมจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยปี 2560/61 ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หวังแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้โรงงานน้ำตาล
จากกรณีที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ได้แสดงความกังวล ต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในการจ่ายเงินชดเชยเงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 2560/61 ที่ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นคืนให้แก่โรงงานนั้น
นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงว่า การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น
ซึ่งตามมาตรา 56 กำหนดระบุว่า ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน โดยราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ 880 บาท/ตันอ้อย
ส่วนราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ดังนั้นในฤดูการผลิตปี 2560/2561 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานเป็นจำนวนเงิน 19,310.67 ล้านบาท
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเกิน 2 สัปดาห์ และเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้กองทุนฯ จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานโดยเร็วต่อไป
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กองทุนฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 จำนวน 10,363.73 ล้านบาท
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานจำนวน 19,310.67 ล้านบาทนั้น ในเบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน จำนวน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือเงินชดเชย 14,190 ล้านบาท และกองทุนฯ จะใช้เงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงาน จำนวนประมาณ 9,500 ล้านบาท
ดังนั้น จะเหลือภาระเงินชดเชยอีกประมาณ 4,690 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินเพื่อการชำระหนี้ โดยกองทุนฯ คาดว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิ จะขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วต่อไป.