สแกนจุดเสี่ยง ล้างบาง สารตั้งต้นผลิตยาบ้า
ก.อุตฯ ยกเครื่อง ล้างบาง สกัดกั้น สารตั้งต้นผลิตยาเสพติด จัดชุดตรวจลงพื้นที่เอกซเรย์จุดเสี่ยง ดึง 6 ส่วนราชการผนึกกำลังร่วมเฝ้าระวังยาเสพติด เผย 1,000 โรงงานขานรับดำเนินการเข้มข้นตลอด 3 เดือน
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำ โครงการโรงงานทั่วไทยร่วมใจต้านภัยยาเสพติด ดำเนินการในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ระหว่าง พฤศจิกายน 2561 – มกราคม 2561 แบ่งเป็น 2 มิติ คือ
1.มิติการเฝ้าระวังและป้องกัน โดยกระทรวงฯ จะควบคุมดูแล การนำเข้าและส่งออกสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยาเสพติด จำนวน 20 รายการตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงยุติธรรม และมีมาตรการกวดขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งการผลิต การนำเข้าและส่งออก และครอบครอง พร้อมทั้งการเน้นเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสารโซเดียมไซยาไนด์ทุกโรง และการ เชิญชวนโรงงานทั่วประเทศเข้าโครงการฯ ซึ่งมีเป้าหมายอย่างน้อย 1,000 โรง คนงาน 50,000 คน โดยสถาน ประกอบการที่เข้าร่วมจะดำเนินกิจกรรมในเชิงรณรงค์ป้องกัน และการตรวจหาสารเสพติดกับพนักงานที่ เข้มข้นในช่วงเวลาดังกล่าว
2. มิติการปราบปราม นอกจากการลงพื้นที่ตรวจกำกับดูแลโรงงานฯ ตามแผนการตรวจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ยังจะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจค้นยาเสพติดในโรงงานกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด จำนวน 324 อำเภอ ใน 64 จังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งจะดำเนินการรูปแบบเดียวกับการจัดการปัญหา ขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลโรงงานที่ใช้ สารเคมี 20 รายการ พบว่าในปี 2560 และ 2561 มีการนำเข้าและส่งออก ทั้งสิ้น 1.1 ล้านเมตริกตัน – 7.7 แสนเมตริกตัน ลดลงเหลือ 9.5 – 6.2 แสนเมตริกตัน (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2561) หรือประมาณร้อยละ 13 โดยจะเน้นการตรวจสถาน ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าส่งออกและมีไว้ในครอบครองสารโซเดียมไซยาไนด์ทุกราย หากพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้านนายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาทางวิชาการ สารโซเดียมไซยาไนด์สามารถนำไปใช้ผลิตยาบ้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการลักลอบนำสารดังกล่าว ออกผ่านเส้นทางธรรมชาติในลักษณะกองทัพมด ซึ่งแต่ละครั้งจะพบปริมาณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้เพิ่มมาตรการควบคุมดูแลที่เข้มงวด เพื่อเป็นการสกัดกั้นการนำไปใช้ผลิตยาเสพติด 3 ระยะ คือ
ระยะเร่งด่วน กระทรวงฯ ร่วมกับหน่วยปราบปรามเข้าตรวจ ทั้งการนำเข้า : กรณีนำไปใช้ในโรงงาน ต้องจัดเตรียมข้อมูลกระบวนการผลิต และต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา กรณีนำเข้าเพื่อจำหน่ายจะมีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 1 ปี และเพิ่มเงื่อนไขการอนุญาตโดยให้แจ้งชื่อลูกค้า และวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ส่วนการส่งออก : จะพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นรายครั้ง แทนการอนุญาตเดิมซึ่งกำหนดไว้ 3 ปี และให้แจ้งข้อมูลผู้ซื้อ ที่อยู่ และวัตถุประสงค์การนำไปใช้ โดยกระทรวงฯ จะประสานข้อมูลไปยัง สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อทำการตรวจสอบใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต
ส่วนระยะกลาง จะเชิญประชุมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูลแนวทางและมาตรการที่จะดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อถือเป็นระเบียบปฏิบัติต่อไป และระยะยาว ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงบัญชีรายชื่อสารเคมีตามแบบ วอ./อก.7 เพื่อทำให้ทราบวัตถุประสงค์การนำไปใช้งาน และศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของสารเคมีที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากข้อมูลผู้ประกอบการ และปริมาณการ นำเข้า-ส่งออก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
สำหรับโครงการโรงงานทั่วไทยร่วมใจต้านภัยยาเสพติด เป็นการดำเนินการโดยมีสถานประกอบการกว่า 1,000 โรงงานเข้าร่วม และมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขับเคลื่อน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร.