“อภิศักดิ” ยันไม่เก็บภาษีมาม่า
“อภิศักดิ์” ฉุดกรมสรรพสามิตศึกษาเก็บภาษีความเค็ม “จะได้สักกี่บาท” แนะเก็บภาษีจากสินค้าสินค้าอื่นดีกว่า หวั่นภาษีความเค็มกลายเป็นภาษีมาม่า
“ผมได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตไม่ต้องเร่งรีบในการเก็บภาษีความเค็ม หลังจากที่กรมสรรพสามิตออกมาเปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็ม เนื่องจากสินค้าที่เข้าข่ายเสียภาษีความเค็มในท้องตลาดนั้น มีน้อยมาก ได้ภาษีไม่กี่บาท” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่า
การศึกษาเก็บภาษีความเค็มจะเป็นการกระทำที่เสียเวลาหรือไม่ เนื่องจากต้องการให้กรมสรรพสามิตใช้เวลาในการศึกษาการเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
“การเก็บภาษีความเค็ม ที่มีผู้ประกอบการเสียภาษีไม่กี่ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารบะหมี่สำเร็จรูป ก็จะไปกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อย จึงอยากให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาเรื่องแทน ดีกว่า เก็บภาษีมาม่า ซึ่งในอนาคต กระทรวงการคลังคงไม่มีการขึ้นอัตราภาษีให้สูงขึ้น แต่จะดำเนินการ 2 วิธีคือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้เก็บรายได้ได้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่า คนที่อยู่นอกระบบจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และ2.การเพิ่มประเภทการจัดเก็บภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีสินค้าออนไลน์ เป็นต้น”
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บรายได้ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย โดยผลการจัดเก็บรายได้เดือนต.ค.2561 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ2562 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 206,452 ล้านบาทสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 10,462 ล้านบาท หรือ 5.3% แสดงให้เห็นว่า การจัดเก็บรายได้ยังเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีโครง การลงทุนขนาดใหญ่หลายแสนล้านบาท จึงทำให้ในช่วง 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลยังจำเป็นต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2560 จัดเก็บภาษีหวาน โดยได้แบ่งค่าความหวานไว้ทั้งหมด 6 ระดับ เริ่มมีผลบังคับใช้ 30 ก.ย.2562
1. ค่าความหวาน 0 – 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่ต้องเสียภาษี
2. ค่าความหวาน 6 – 8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร
3. ค่าความหวาน 8 – 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร
4. ค่าความหวาน 10 – 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร
5. ค่าความหวาน 14 – 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
และ 6. ค่าความหวาน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร