กพร.แจงเหตุขาดแคลนหิน รอ ครม.พิจารณา
กพร. มั่นใจ อนุญาตประทานบัตรเหมืองหินกว่า 300 ราย รองรับความต้องการใช้หินก่อสร้างภายในประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 30 ปี พร้อมชี้แจงสาเหตุ บางจังหวัดขาดแคลนหิน เพราะคำขอต่ออายุพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ต้องรอ ครม.พิจารณา
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการกำหนดแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วประเทศไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 300 แหล่งทั่วประเทศ มีปริมาณสำรองรองรับความต้องการของประเทศได้ ไม่น้อยกว่า 30 ปี และ ก่อนที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการอนุญาตประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินเพื่อการก่อสร้างไปแล้วจำนวนหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบเหมืองหินที่เปิดดำเนินการทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 300 ราย สามารถรักษากำลังการผลิตหินได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในระยะ 1 ปีกว่า ที่ผ่านมา มีคำขอประทานบัตรหรือและคำขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินเพื่อการก่อสร้างที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประมาณ 30 ราย คำขอประทานบัตรดังกล่าวส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ต้องมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการอนุญาตประทานบัตรต่อไป
สำหรับกรณีที่มีข่าวการขาดแคลนหินในบางจังหวัดนั้น สาเหตุเกิดจากประทานบัตรสิ้นอายุ และ คำขอต่ออายุประทานบัตรอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาตามกระบวนการข้างต้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ระหว่างดำเนินการขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อขอความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตร
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการอนุญาตประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตรภายใต้พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่มีความต่อเนื่องโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 โดยแผนแม่บทฯ ดังกล่าวได้มีการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองสำหรับใช้ในการอนุญาตประทานบัตรแล้ว รวมทั้ง ได้มีการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุญาต ได้แก่ การจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชน การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมืองเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้ประกอบการไปดำเนินการแล้ว หากการดำเนินการต่าง ๆ แล้วเสร็จ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะสามารถพิจารณาอนุญาตประทานบัตร และต่ออายุประทานบัตรได้ภายในเวลาอีกประมาณ 2 เดือน