ก.อุตฯ ปรับทัพ รับเทรนด์ Smart Prodution
ก.อุตสาหกรรม ปรับทัพอุตฯ รับเทรนด์ “Smart Prodution” ตั้งเป้าผู้นำการผลิต-ใช้หุ่นยนต์อาเซียน ภายในปี 2569
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) และสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เพื่อยกระดับผู้ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติและผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ โดยพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบวัดระดับตามมาตรฐานสากล ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับงานจากภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงฯมีแผนยกระดับขีดความสามารถด้านระบบอัตโนมัติ( Automation) ให้กับผู้ผลิตเครื่องจักร ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และผู้ประกอบการ SI ทั่วประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และผู้ประกอบการ SI รายใหญ่จากสมาคม TARA เป็นพี่เลี้ยง
ขณะเดียวกัน ยังเตรียมยกระดับการให้บริการภายในกระทรวงฯ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยปฏิรูปองค์กรไปสู่การเป็นรัฐบาลอัจฉริยะ (Smart Government) โดยเร่งนำระบบดิจิทัลมาให้บริการและปฏิบัติงานภายในกระทรวงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ การขอใบอนุญาตมาตรฐาน มอก. การชำระค่าบริการออนไลน์ การรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์แทนการตรวจสถานประกอบการเพื่อต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลและโครงข่ายการให้บริการในด้านต่าง ๆ ของกระทรวงผ่านระบบดิจิทัลซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว และในอนาคตจะขยายปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ในการเป็น One Stop Service ให้กับผู้ประกอบการ
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) กล่าวว่า CoRE พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงฯ อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Steering Committee)คณะกรรมการเครือข่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภูมิภาค (Regional CoRE Committee) รวม 5 ภูมิภาค
โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและยกระดับบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รับรองคุณสมบัติของผู้ประกอบการและ SI ที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้ง ให้ความเห็นในเชิงวิชาการสำหรับโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น
ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่าที่ผ่านมาเมื่อปี 2560 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve โดยมีเป้าหมายยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569
โดยมีเป้าหมายให้ปี 2564 เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SI ในประเทศจาก 200 รายเป็น 1,400 ราย ลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติร้อยละ 50
ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในเป้าหมายระยะกลาง โดยปี 2563 มีการลงทุนในระบบอัตโนมัติ ประมาณ 120,000 ล้านบาท มีระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 25 และใช้ระบบอัตโนมัติภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 12 อย่างไรก็ตามคาดว่าภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนบรรลุตามเป้าหมายและแผนการดำเนินงาน(Roadmap) ที่ตั้งไว้