สบน.ชี้! S&P คงเครดิตไทยระดับ BBB+
S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ เหตุ เศรษฐกิจยังแกร่ง เกินดุบบัญชีเดินสะพัด แถมทุนสำรองสูง ชี้! อีก 2 ปี คาดไทยทำงบประมาณขาดดุลลง เหตุมีรายได้เพิ่มจากส่งออกและท่องเที่ยว ห่วงแค่จีดีพีและการเมืองในประเทศ
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะทำให้การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564–2565 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี S&P คาดว่า ปี 2566 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายรัฐบาล เศรษฐกิจฟื้นตัว รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นและจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ S&P คาดว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต (GDP Growth) ประมาณร้อยละ 1.1 และจะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.6 ต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 จากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 และประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงได้ อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ที่ระดับเดิมก่อนเกิด COVID-19 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Public Private Partnership) เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ
2. ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดย ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล อีกทั้ง สภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดย S&P คาดว่าสภาพคล่องต่างประเทศ (External liquidity) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
3. ปัจจัยสำคัญที่ S&P จะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง.