สศค.ดึงสตช.จับแก๊งเงินกู้นอกระบบสะสมเฉียดหมื่นราย
คลังประสานสตช.รุกกว๊านจับแก๊งเงินกู้นอกระบบ เผย! แค่ช่วง ส.ค.64 ตร.เพิ่มทั่วประเทศได้เพิ่มขึ้นถึง 224 ราย รวมยอดสะสมจับแก๊งทำนาบนหลังคนได้เฉียด “หมืนราย” แล้ว ด้าน “รองโฆษก สศค.” กลุ่มธุรกิจพิกโกไฟแนนซ์ทั่วไทย 358 ราย ร่วมมาตรรัฐเยียวยาเหยื่อโควิดฯ “พักค่างวด ขยายเวลาคืนหนี้ เปลี่ยนหนี้สั้นเป็นหนี้ยาว” รวมมากกว่า 1.2 หมื่นบัญชีลูกค้า
น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ รองโฆษก สศค. กล่าวรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ว่า ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ความร่วมมือกับ สศค.เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับลูกหนี้ ประกอบด้วยการลดค่างวด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว การพักชำระค่างวด การพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ยจำนวนทั้งสิ้น 358 ราย ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จำนวน 12,021 บัญชี โดยจังหวัดที่ผู้ประกอบธุรกิจให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (2,567 บัญชี) กรุงเทพฯ (1,014 บัญชี) และขอนแก่น (906 บัญชี)
และเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา สศค. ได้ออกประกาศ สศค. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (ฉบับที่ 3) ปรับลดค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้สำหรับการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บได้จาก 80 บาท/เดือน/ราย ลงเหลือ 50 บาท/เดือน/ราย เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ ลงวันที่ 9 ส.ค. โดยค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้อัตราใหม่ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นต้นไป
รองโฆษก สศค. ระบุว่า สำหรับภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ณ สิ้นเดือน ส.ค. มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง ให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ1,004 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (586 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (169 ราย) ภาคเหนือ (131 ราย) ภาคตะวันออก (66 ราย)และภาคใต้ (52 ราย)ตามลำดับ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 952,123 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 14,676.98 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 15,415บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 889 ราย ใน 74 จังหวัดและมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 860 รายใน 74 จังหวัดโดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (79 ราย) กรุงเทพมหานคร (69 ราย) และขอนแก่น (51 ราย)
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 160 รายใน 50 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด ได้แก่ นครนายก) และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 144 ราย ใน 45 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ นครราชสีมา (22 ราย) อุดรธานี (10 ราย)อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 8 ราย)
(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค.2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 228,163บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน4,495.84ล้านบาทโดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 29,547 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม666.15 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.82 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 35,129บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม815.64ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.14ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,997ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 2564 จำนวน 224 ราย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
• สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน1599
• ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
• ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
• ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร.025753344.