บอร์ด EEC เพิ่มอุตฯเป้าหมาย 2 สาขา เป้า 5 แสนล.
บอร์ด EEC ตั้งเป้าเม็ดเงินลงทุน อุตสาหกรรมเป้าหมายโครงการ EEC 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี และเห็นชอบให้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษอีก 2 สาขา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ครั้งที่ 5/2561 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษใน EEC ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดึงการลงทุนเป้าหมาย 100,000 ล้านบาทต่อปี
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะจัดทำแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการหานักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการหลัก (Anchor) ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนและชุมชนบรรดาที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
อีกทั้งวางแผนอนาคต รองรับการพัฒนาในอนาคต ด้วยการขยายพื้นที่ EEC เพิ่มเติมจาก 3 จังหวัด คือ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรีนั้น เป็นแผนงานในอนาคตที่อยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งจะใช้เวลาราว 6 เดือน, การประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติม, การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่, เมืองศูนย์กลางการเงิน และ Aerotropolis, การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง โดยประสานกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แผนงานสำคัญในระยะต่อไปเพื่อรองรับอนาคต หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติมอีก 2 สาขา คือ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา จากเดิมที่มีอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 10 สาขา โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งหน้า
“เนื่องจากการลงทุนในขณะนี้ไม่ใช่แค่การเข้ามาจัดตั้งโรงงาน แต่จะเป็นการลงทุนทั้งแพ็คเกจ มีการพัฒนาคนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี” นายคณิศ กล่าว
ในส่วนของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศนั้น ก่อนหน้านี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมไปจัดทำแผนและพิจารณาในรายละเอียดว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งกระทรวงกลาโหมสามารถจัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ประกาศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม
ขณะที่อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอให้ประกาศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าในภาพรวมแล้วเป็นเรื่องใหญ่ ลำพังแค่การจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาโครงการ EEC
ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าภาพรวมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)