ชี้ปัจจัยดันยอดขายเหล็กแตะ1.21ล.ตัน
ทาทา สตีล เผย ผลประกอบการไตรมาส 2 ปริมาณขายโตต่อเนื่อง ชี้ความต้องการเหล็กในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มดี หลังจากสิ้นสุดฤดูมรสุม ประกอบกับการลงทุนระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ และโครงการ EEC ส่งผลให้ปริมาณการขายครึ่งปีหลังโตตามเป้าที่ 1.21ล้านตัน
มร.ราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปริมาณการขายในไตรมาสที่ 2 ปีการเงิน 2562 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2561 มีจำนวน 288,000 ตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการขาย 281,000 ตัน โดยในช่วงครึ่งปีแรก ปีการเงิน 2562 มีปริมาณการขายรวมจำนวน 569,000 ตัน และมีปริมาณการส่งออก 74,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน ที่มีปริมาณการส่งออก 48,700 ตัน ถึงร้อยละ 52 โดยเป็นการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินเดีย กัมพูชา และ ลาว ที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับยอดขายสุทธิในไตรมาสนี้อยู่ที่ 5,822 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสุทธิ 5,443 ล้านบาท ของไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 7 โดยมียอดขายสุทธิของครึ่งปีแรก ปีการเงิน 2562 จำนวน 11,265 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสุทธิ 10,394 ล้านบาท ของครึ่งปีแรกของปีการเงินที่ผ่านมา ร้อยละ 8 ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาสินค้าเหล็กสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบและบางส่วนได้ถูกชดเชยกับปริมาณการขายที่ลดลง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความต้องการเหล็กทรงยาวยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณขนาดเล็ก
นอกจากนั้น ตัวเลข EBITDA (Earnings Before Interest, Taxes, Depreciation and Amortization) ของไตรมาสนี้ อยู่ที่ 234 ล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 216 ล้านบาท ร้อยละ 8 สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการขายและราคาขายที่ปรับตัวดีขึ้น ด้านกำไรก่อนหักภาษีของไตรมาสนี้อยู่ที่ 67 ล้านบาท และมีกำไรหลังหักภาษีในไตรมาสนี้อยู่ที่ 51 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการสินค้าเหล็กในธุรกิจค้าปลีกของไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านจะดีขึ้น หลังจากสิ้นสุดฤดูมรสุม ประกอบกับภาครัฐมีการลงทุนเรื่องของสาธารณูปโภค และการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จึงเชื่อว่าครึ่งปีหลังปริมาณการขายจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 1.21ล้านตัน โดยในครึ่งปีแรกมีปริมาณการขายไปแล้ว 5.69 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเหล็กจากเตาหลอมไฟฟ้า (EAF) ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนของ กราไฟต์อิเล็กโทรดที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท