ปี 62 เดินหน้าโรดโชว์ดึงนักลงทุนลง EEC
ที่ประชุม กบอ.เห็นชอบแผนขับเคลื่อนพื้นที่ EEC สกพอ. จับมือ BOI เดินหน้าโรดโชว์แบบเจาะลึกตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมตั้งกองทุนเยียวยา ประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนา
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)ในปีที่ผ่านมาและการดำเนินงานในปี 2562
ทั้งนี้ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 และมีกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 คาดว่าจะประกาศผู้ชนะการคัดเลือกและลงนามในสัญญากับเอกชนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 ส่วนอีก 4 โครงการจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนคัดเลือกทุกโครงการช่วงเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 และลงนามในสัญญากับเอกชนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
แผนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 4 แผน ได้แก่ แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การจัดทำแผนงานบูรณาการขับเคลื่อน EEC ตาม พ.ร.บ. งบประมาณฯ พ.ศ. 2562 จำนวน 14,862.6146 ล้านบาท
พร้อมจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ในหลายประเทศร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ส่วนแผนการดำเนินงานของ สกพอ. ในระยะต่อไป ประกอบด้วย ดึงการลงทุน ร่วมกับ BOI เป้าหมาย 100,000 ล้านบาท สกพอ. จะจัดทำแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการหา นักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการหลัก (Anchor)ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ แผนการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรม รวมทั้ง วางแผน Roadshow แบบเจาะลึกตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในพื้นที่ EEC การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การประชาสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อขยายตลาดการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
อย่างไรก็ดี สกพอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในเบื้องต้น จำนวน 10 อุตสาหกรรม โดยสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่,อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ,การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ,การแปรรูปอาหาร,หุ่นยนต์,การบินและโลจิสติกส์,เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ,ดิจิทัล,การแพทย์และสุขภาพครบวงจร