9 เดือน กำไรลด SCG ปรับแผนรับมือค้าโลกฝืด
เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือน ปี 61 รายได้เพิ่ม แต่กำไรลด เหตุต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เร่งผลักดันแผน 6 ด้านรับมือสงครามการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2561 ว่า เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 361,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไร 34,281 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ เอสซีจียังมีรายได้จากการส่งออก 97,924 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 122,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไร 9,473 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 24 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (asset impairments) ตามมาตรฐานบัญชี 1,670 ล้านบาท และต้นทุนวัตถุดิบ Naphtha ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งหากไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีดังกล่าว จะทำให้เอสซีจีมีกำไร 11,143 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในไตรมาสที่3 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 30,899 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 87,943 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 64,322 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 จากยอดขายรวม ปัจจุบัน สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่30กันยายน2561มีมูลค่า592,399ล้านบาท โดยร้อยละ26เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
นอกจากนั้น เอสซีจี ยังได้เตรียมแผน 6 ด้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์สงครามการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย
1.ขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลกล่าสุด คาดว่าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ในเวียดนาม จะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 พร้อมขยายธุรกิจโลจิสติกส์ในจีน และพัฒนาระบบการขนส่งข้ามแดนระหว่างจีนและอาเซียนในรูปแบบ Total Supply Chain Solution โดยระยะแรกจะเน้นให้บริการที่จีนตอนใต้
2.บริหารจัดการต้นทุนพลังงาน และส่งเสริมใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน
3.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยนำ Blockchain มาใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้าอย่างครบวงจร
4.พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS ICCB) ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2561 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม 139,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และร่วมกับบุญถาวร จัดตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เริ่มให้บริการได้ในไตรมาสแรกของปี 2562 และยังเตรียมเปิดตัว “SCG HOME” เพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการพร้อมคัดสรรนวัตกรรมสินค้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ลูกค้าแบบครบวงจร
5.เพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน ด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน 6.ทบทวนโครงการลงทุนและต้นทุนการลงทุนโดยเน้นเฉพาะโครงการที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น การลงทุนในโครงการประหยัดพลังงาน อาทิ การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเตรียมให้บริการในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรเป็นรายแรกของไทยในปี 2562