“อาคม” หวังแผน “พัฒนาฯ ฉ.13 + 6 แนวขับเคลื่อน” ดันจีดีพีปี’65 พุ่ง 5%
“อาคม” ย้ำจุดเดิม! วาง 6 แนวทางขับเคลื่อนฯ หวังพลิกเศรษฐกิจไทยปี’65 ตั้งเป้าจีดีพีพุ่ง 4-5% เชื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 มีส่วนหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวระหว่างเป็นประธานและสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Sustainable Thailand 2021” โดยย้ำว่า รัฐบาลเตรียมประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังมุ่งมั่นสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมาโดยตลอด ผ่านนโยบายทางการคลังทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ
โดยฐบาลได้ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และจัดสรรทรัพยากรทางการคลังและการเงินที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อสนับสนุนระบบการรักษาพยาบาล และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านหลากหลายโครงการ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น เพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศไว้ และจะดำเนินมาตการอย่างต่อเนื่องตามที่ได้ประกาศไว้ พร้อมกล่าวเชื่อมั่นว่าในปี 2564 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อยู่ที่ 1.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดี และจะรักษาแรงส่งต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจในปี 2565 เติบโตได้ 4% – 5%
รมว.คลัง ย้ำถึงแนวทางในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศระยะยาว เพื่อให้มีความยั่งยืน ว่า จะต้องประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขณะเดียวกันก็จะต้องประกาศ 6 แนวทางขับเคลื่อน ประกอบด้วย…
1.ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย รวมถึงนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการออกพันธบัตรที่ยั่งยืนต่างๆ หรือลงทุนผ่านกรีนบอนด์ รวมทั้งมีการส่งเสริมการลงทุนรถ EV โดยมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมรถ EV พร้อมตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนภายในปี 2030
2.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ เน้นที่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (นิวเอสเคิฟ) โดยใช้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต โดยยกระดับให้ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจให้มากขึ้น
3.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ไทยความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น โดยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรฐกิจดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันการทำ e-tax เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ให้กับภาคเอกชนไปแล้ว
4. การสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคม โดยทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมแห่งชาติต่างๆ
5.การลดความยากจนและความไม่เท่าเทียม โดยการวางนโยบานทางด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒาระบบสวัสดิการต่างๆ
และ 6. การใช้บทบาทของตลาดทุน ในการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องของการออกกรีนไฟแนนซ์ซิ่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายอาคม เคยกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Shaping Thailand’s Readiness for Post COVID-19 Economic Opportunities” ในงาน Thailand Focus 2021 ภายใต้แนวคิด “Thriving in the Next Normal” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตถึง 7.5% ในไตรมาส 2/64 แต่สภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แข็งแกร่งนับแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยที่อัตราการเติบโตของจีดีพี เทียบระหว่าง 2 ไตรมาสนับ ตั้งแต่ต้นปีนี้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% การระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ส่งผลให้การฟื้นตัวอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้
ที่ผ่านมาหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ในประเทศปรับลดคาดการณ์จีดีพีลง กล่าวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 0.7% สำหรับปีนี้ และ 3.7% สำหรับการฟื้นตัวในปี 65 ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิม 1.5-2.5% อย่างไรก็ตาม ใปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4-5% ในปี 2565 ได้.