สอน.เร่งหาแนวทางใหม่ชดเชยชาวไร่อ้อย
สอน.เร่งหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรใดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หลัง ครม.มีมติ เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวน 6,500 ล้านบาท
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและระบบใหม่ ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือพยุงราคาได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนโดยเร็ว
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยเน้นอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่สำคัญแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในด้านอื่น ๆ ด้วย
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้านปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม
ทั้งนี้ในเบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท/ตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย รวมจำนวน 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อยต่าง ๆ รวมทั้งด้านการเพาะปลูกและบำรุงรักษาอ้อยรวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
อีกทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ จนกว่าระบบใหม่จะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต (Input Subsidies) ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรของตน ผ่านมาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรและชนบท การอุดหนุนการลงทุน และการอุดหนุนเรื่องปัจจัยการผลิต ซึ่งต้องให้เป็นการทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ และเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้ยาก รวมถึงผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์โดยภาครัฐสามารถดำเนินการได้
ส่วนเกษตรกรใดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อย กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเกษตรกร นั้น ทางหน่วยงานจะหาแนวทางอื่นให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรต่อไป