รายได้เกษตรกรพุ่ง Bio Hub ปี 70
กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 4 ภาค ต่อยอด อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 คาดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 190,000 ล้านบาท และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธาน งานเสวนาพิเศษ เรื่อง “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” ว่า อุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
และสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการนอกจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากอ้อยรวมถึงของเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain)ด้วยขบวนการผลิตทางชีวภาพ (Bio-Based Process)
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยเน้นผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้งพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคน ต่อปีอีกด้วย
นายอุตตม กล่าวต่อว่า การจะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาล “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบใหม่ที่นำไปสู่การค้าแบบเสรี ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งช่วงระยะเวลา 2 ปี (ฤดูการผลิตปี 2560/61 และ 2561/62) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดการดำเนินการในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภายหลังจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2561 ให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ และกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งสาเหตุที่เราต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของ WTO เนื่องจากรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกว่าร้อยละ 75 ต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายได้โดยรวมของอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดและดำเนินการไปแล้วเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ อาทิ การปรับแก้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้สามารถนำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยและเพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้พัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค (จังหวัดชลบุรี, กาญจนบุรี, กำแพงเพชร และอุดรธานี) ให้พร้อมสู่การเป็นศูนย์แห่งการวิจัย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือของห้องปฏิบัติการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามความชำนาญของแต่ละศูนย์
อีกทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (Thailand Sugarcane Breeding Center) ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย โดยดำเนินการวิจัยพัฒนาและเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ทั้งระบบ และต่อยอดระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับปรุงพันธุ์อ้อยภายในประเทศ พร้อมขยายผลบทบาทภาระหน้าที่ของศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (TSBC)ให้เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้บริหารจากหลายบริษัทให้ความสนใจในการนำน้ำตาลไปผลิตอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพทั้งไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท คอร์เบียน(Corbion) จากสแกนดิเนเวีย, เนเจอร์เวอร์ค จากสหรัฐอเมริกา, พูแรค (ประเทศไทย)จำกัด, กลุ่มน้ำตาลเบียร์ช้าง ,กลุ่มมิตรผล เป็นต้น