แจงเหตุบึ้มโรงหลอมเหล็ก มาบตาพุด
ทาทา สตีล ชี้แจงเหตุระเบิดเตาหลอมเหล็ก เหล็กก่อสร้างสยาม นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
เกิดจาก ระบบจุดเชื้อเพลิงให้ความร้อนเตาหลอมขัดข้องผู้บาดเจ็บคนปลอดภัย และจากการตรวจสอบไม่พบการรั่วไหลของสารอันตราย
จากกรณีเหตุระเบิดในบริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด หรือ TATA STEEL (THAILAND) ผลิตเหล็กเส้นทาทา ทิสคอน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2561 กระทั่ง นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้สั่งระงับการดำเนินกิจการโรงหลอมเหล็ก
ล่าสุดนายพรชัย ตั้งวรกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด เผยว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 08.15 น. ขณะอุ่นเตาหลอมเหล็ก (Electric Arc Furnace: EAF) สาเหตุมาจากระบบจุดเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ความร้อนเตาหลอม EAF เกิดขัดข้อง ขณะดำเนินการอุ่นเตา ก่อนเริ่มดำเนินการผลิตตามปกติ ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซธรรมชาติในเตาหลอม ปริมาณสูงระดับหนึ่ง เมื่อระบบจุดเชื้อเพลิงทำงานได้ เป็นผลให้เกิดการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติที่สะสมทันที จนเกิดการระเบิดและมีเสียงดังขึ้นบริเวณเตาหลอมเหล็ก
ทั้งนี้จากการตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้นมีทรัพย์สินเสียหายจากแรงระเบิด เช่น หลังคา ผนังอาคารโรงงานในส่วนการผลิตเหล็กแท่งบางส่วน รวมถึงกระจกในห้องควบคุมบริเวณเตาหลอม EAF ทั้งนี้ไม่พบการฟุ้งกระจายของสารเคมี และไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานข้างเคียง และชุมชนโดยรอบแต่อย่างใด
นายพรชัย กล่าวว่าในส่วนของผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นพนักงานโรงงาน จำนวน 4 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง โดยผู้บาดเจ็บ 2 คน อาการปลอดภัยแล้ว แพทย์ให้กลับบ้านได้ 1 คน ส่วนอีก 2 คนมีแผลไฟไหม้ และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย จึงต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ได้ให้การดูแลผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยทางทีมผู้เชี่ยวชาญจะเร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบระบบความปลอดภัยของเตาหลอมเหล็กอย่างด่วนที่สุด และกำลังเดินหน้าซ่อมแซมเครื่องจักร อาคารที่ชำรุดเสียหายโดยเร็ว เพื่อกลับมาเดินหน้าการผลิตอย่างปลอดภัยอีกครั้ง ทั้งนี้บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ได้เชิญการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าดูระบบการผลิตเหล็กเส้นที่โรงงาน พร้อมเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการป้องกันแก้ไข และมาตรการป้องกันเพิ่มเติมต่อไป.