คปภ.เปิดศูนย์รับร้องทุกข์โควิดฯ หลังบ.ประกันฯแห่ขายพุ่ง 16 ล.กรมธรรม์
คปภ. ยึดฤกษ์ “9 เดือน 9” ฉลองครบ 14 ปี ตั้งศูนย์รับร้องทุกข์ปมโควิดฯเป็นการเฉพาะ เผย! แค่ 8 เดือนแรกปีนี้ บริษัทประกันฯขายกรมธรรม์โควิดฯไปแล้ว 16 ล้านฉบับ เป็นกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” 7 ล้านฉบับรับเบี้ยประกันภัยไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่จ่ายค่าสินไหมเคลมรวมกันเกิน 9 พันล้านบาท และยังไม่จบ แค่นี้ ระบุ! จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะสำหรับดูแลสุขภาพและโรคระบาดร้ายแรง
“ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับประชาชนผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบกรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ล่าช้า เราพร้อมจะยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนผู้เอาประกัน โดยยึดเอาวันครบรอบสถาปนาของสำนักงาน คปภ. ที่มีอายุครบ 14 ปีในวันนี้ (9 เดือน 9) เป็นวันเปิดศูนย์แห่งนี้” ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. หรือ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวระหว่างเปิดศูนย์ฯเฉพาะกิจแห่งนี้ โดยมีคณะผู้บริหาร คปภ. พนักงานและลูกจ้าง สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมเปิดศูนย์ฯ ผ่านระบบ Microsoft Team
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ตระหนักถึงความเดือดร้อนจากผลกระทบในกรณีดังกล่าวของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยก่อนหน้านี้ได้ออก 7 มาตรการเร่งด่วน เพื่อกำกับดูแลบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันภัยโควิดฯ อย่างใกล้ชิดไปแล้ว โดยการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 จะเน้นรับเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ล่าช้าเป็นการเฉพาะ แยกจากช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนปกติ
โดยจะ บูรณาการร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และคณะทำงานชุดย่อยทั้ง 4 ชุด ของสำนักงาน คปภ. ที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ จะจัดทีมรับเรื่องร้องเรียนประกอบด้วย ทีมรับเรื่องเจอจ่ายจบ ทีมรับเรื่องค่าชดเชยรายวัน ทีมรับเรื่องค่ารักษาพยาบาล และทีมรับเรื่องเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ เพื่อให้บริการแบบครบวงจร One Stop Service และครอบคลุมในทุกมิติความคุ้มครองของการประกันภัยโควิด-19
นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยยังสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้เปิดช่องทางสำหรับประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่สะดวกเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หรือจะเดินทางมายื่นเรื่องและติดตามเรื่องได้จากศูนย์ฯแห่งนี้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ มีสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค. (ข้อมูล ณ 3 ก.ย. 2564) โดยมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,145 เรื่อง และประเด็นเรื่องร้องเรียนที่พบมากสุด คือ บริษัทประกันภัยยังไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ ณ ต้นเดือน ก.ย. มีประมาณ 16 ล้านกรมธรรม์ โดยในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนฯ ณ วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมากถึงกว่า 9,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทประกันภัยมีเบี้ยรับรวมกันราว 10,000 ล้านบาทต้นๆ ซึ่งค่าสินไหมฯดังกล่าวถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากโดยยังมีบางส่วนที่จ่ายไม่ครบและเป็นปัญหากันรอการแก้ไขอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
“ผมหวังว่าการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้นทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. พร้อมจะดำเนินการในทุกมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยทุกคนได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จึงเชื่อว่าผลกระทบจากกรณีปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้าจะคลี่คลายโดยเร็ว” เลขาธิการ คปภ. กล่าว พร้อมกับยอมรับว่า…
การไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับดูแลด้านสุขภาพ ถือเป็นปัญหาของสถานการณ์โควิดฯในปัจจุบัน ซึ่งทุกฝ่ายไม่มีใครผิด เพราะเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ต่างไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่การจะออกกฎหมายเป็นการเฉพาะก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยเวลา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบริษัทประกันภัยต่างได้รับประสบการณ์จากสถานการณ์นี้ เพื่อนำกลับไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิดฯให้ตอบโจทย์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดราคา การจ่ายเงินสินไหมทดแทนฯ และอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม นับจากปี 2563 เป็นต้นมา พบว่าบริษัทประกันภัยขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯไปแล้วรวมกันราว 20 ล้านกรมธรรม์ โดยจำนวนนี้ ราว 7 ล้านฉบับ เป็นประกันภัยโควิดฯประเภท “เจอจ่ายจบ” นอกจากนี้ เมื่อประเด็นปัญหาการจ่ายเงินสินไหมทดแทนฯในการเคลมประกันภัยโควิดฯสิ้นสุดลง สำนักงาน คปภ.ก็จะยุติบทบาทของ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 และจะใช้ช่องทางของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯเดิม ทำงานต่อไป
ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการร้องเรียนกรณีดังกล่าว ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ.1186 หรือ website คปภ. www.oic.or.th.