สรรพากรคืนภาษีแวตนักช้อป
“เอกนิติ” เล็งอนุมัติบริษัทนิติบุคคล 3 ราย คืนภาษีให้แก่นักท่องเที่ยว ณ จุดขาย หรือ Vat Refund For Tourist จากเดิมคืนแวตให้ที่สนามบินเพียงอย่างเดียว โดยจะนำร่องโครงการ 6 เดือน สร้างสรรคนักช้อป
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ผมจะประกาศรายชื่อบริษัทนิติบุคคลจำนวน 3 ราย ที่จะเข้าร่วมโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้นักท่องเที่ยว หรือ Vat Refund For Tourist ณ จุดที่มีการซื้อสินค้า” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรม สรรพากร กล่าวและกล่าวว่า
โครงการนี้ จะเริ่มนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.61-มี.ค.62 รวมระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งในช่วง 6 เดือนนี้ บริษัทนิติบุคคลที่รับการอนุมัติจากกรมฯ จะอยู่ในสนามทดลองร่อง หรือ Sand Box เพื่อประเมินผลการทำงาน 2 เรื่องคือ 1.นักท่องเที่ยวต่างชาติ นิยมใช้ Vat Refund For Tourist หรือไม่ และ2. ระบบที่วางไว้มีช่องโหว่ และทำให้เกิดการโกงภาษีหรือไม่
“ปัจจุบันกรมสรรพากรมีการคืนภาษีแวตนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Vat Rafundtax ) สนามบินอยู่แล้วเช่น สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ แต่มีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ต้องการให้กระทรวงการคลังสนับ สนุนเรื่องการท่องเที่ยว โดยขอให้ไทยเป็นสรรค์ของนักช้อปปิ้ง”
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนามบินต้องต่อแถวยาวเหยียดจนต้องใช้เวลานานในการขอคืนภาษีในสนามบิน
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามียอดขอคืนภาษีแวตจากนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ล้านรายต่อปี คิดเป็นเงิน 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ก็ไม่ขัดข้อง แต่ขออย่าให้มีการโกงภาษีก็แล้วกัน
ทั้งนี้ วิธีการคืนภาษีแวตที่สนามบินจะมีความยุ่งยากมากกว่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะต้องนำสินค้าที่ซื้อมาโชว์กับเจ้าหน้าที่สรรพากรภายในสนามบิน หลังจากผ่านพิธีการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้ว
แต่การคืนรูปแบบใหม่ Vat Refund For Tourist จะเป็นการคืนภาษีแวตด้วยเงินสด ณ จุดขายทันที โดยสินค้าที่ได้รับคืนภาษีนั้น จะต้องปิดผนึกหรืออยู่ในหีบห่อให้เรียบร้อย เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถนำเงินจากการคืนภาษีไปช้อปปิ้งได้อีก ก็จะเพิ่มความคึกคักและส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ
“ช่วงของการทดลอง 6 เดือนนี้ กรมฯ จะประเมินว่า เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศเท่าไหร่ โดยจุดคืนภาษี Vat Refund For Tourist จะเปิดกว้างให้บริษัทที่ผ่านหลักเกณฑ์จากกรมฯ สามารถตั้งจุดคืนภาษีแวตได้ บริษัทละ 3 จุด โดยสามารถตั้งจุดบริการได้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยในเบื้องต้น จะมีการกำหนดสินค้าทั้งหมด 10 ชนิดที่จะได้คืนภาษีแวตเช่น นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนมและแวนตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดราคาสินค้าที่จะรับคืนภาษีแวต เช่น ราคา 2,000 บาทขึ้นไป หรือ 5,000 บาทขึ้นไป โดยบริษัทนิติบุคคลที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท”.