ส่งออกโตทุบสถิติ!!
“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือนส.ค. มีมูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 6.68% มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนยอดรวม 8 เดือนโต 10.03% ลั่นเดือนก.ย. น่าจะโตได้มากกว่านี้ แต่สงครามการค้าฉุดมูลค่าลด 40 ล้านเหรียญฯ ลดลง 0.2% โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษี ได้รับผลกระทบมากสุด คือ โซลาร์เซลล์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนส.ค. ระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,794.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.68% สูงกว่าตลาดคาดว่าจะขยายตัว 4.5-4.75% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,382.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 22.8% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยมูลค่าส่งออกในเดือนส.ค. จำนวน 22,794 ล้านเหรียญฯ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 61 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 169,030.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.03% ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 166,678.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15.89% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,351 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน เอเชียใต้และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) สามารถขยายตัวได้ในระดับสูง ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักเช่น สหรัฐฯ ในเดือนนี้กลับมาเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.6% จากเดือนก่อนที่ติดลบ, ตลาดยุโรป ลดลง 4.3%, ตลาดจีน ขยายตัว 2.3% และตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 14.6%
สำหรับการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประ กอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอตุสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.1% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม และข้าว
“ตอนนี้ตลาดเอเชียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นตลาดใหญ่ของไทย แนวโน้มนี้ก็จะขยายไปมากขึ้นในปีถัดๆ ไป ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งขยายตลาด รวมทั้งจัดทำกลยุทธ์ในการขยายตลาดเอเชียให้มากขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์การค้าการส่งออกในเอเชียนั้น จะต้องมองให้เป็นภาพเดียวกัน”
สำหรับการนำเข้าในเดือนส.ค.ที่ขยายตัวสูงถึง 22.8% คิดเป็นมูลค่า 23,382 ล้านดอลลาร์นั้นเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 37.9% และการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากในช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งหากหักการนำเข้าในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง และทองคำแล้ว การนำเข้าในเดือน ส.ค.จะขยายตัวเพียง 7% เท่านั้น
น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกปีนี้ ว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวได้ถึง 9% ที่มูลค่าประมาณ 2.57 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ทั้งปีที่ 8% เนื่องจากการส่งออกยังมีสัญญาณเป็นบวก เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ยังขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาส 4/2561 ยังสูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนว่าผู้ส่งออกมีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยจะยังขยายตัว แม้จะมีความกังวลต่อเสถียรภาพนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง ซึ่งการส่งออกของไทยที่กระจายตัวไปยังตลาดใหม่ๆ และมีศักยภาพในการขยายตลาดที่มากขึ้นในอนาคต จะช่วยลดทอนความเสี่ยง และผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวลงได้
“เป้า 8% เป็นไปได้แน่นอน ซึ่งทั้งปีอาจโตได้ถึง 9% ไม่น่ามีปัญหา” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า และกล่าวว่า
ในช่วง 4 เดือน ต้องได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านเหรียญฯ แต่ถ้าจะให้ไปถึง 10% ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็หนักเพราะฐานปีก่อนช่วงปลายปีขยายตัวสูง
สำหรับการส่งออกรายสินค้าเดือนส.ค.61 พบว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 4.1% เช่น ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป, เครื่องดื่ม ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 5.8% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, และส่วนประกอบ แต่ทองคำ ลด 66.6% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด และโซลาร์เซลล์ ลด 23.1%
โดยตลาดส่งออกสำคัญนั้น ตลาดหลัก เพิ่ม 3.2% ได้แก่ ญี่ปุ่น เพิ่ม 14.6%, สหรัฐฯ กลับมาเป็นบวก 0.6% แต่สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 4.3% หดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน เพราะปีก่อนไทยส่งออกเครื่องบินที่ส่งมาซ่อมกลับไปให้สหภาพยุโรป ทำให้ฐานสูง, ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 19.2% เช่น อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 35.5% สูงสุดรอบ 85 เดือน, ซีแอลเอ็มวี เพิ่ม 32.5% สูงสุดรอบ 78 เดือน, จีน เพิ่ม 2.3%, อินเดีย เพิ่ม 22.7%, ฮ่องกง เพิ่ม 11% แต่เกาหลีใต้ ลด 4.6% และไต้หวัน ลด 6.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 5.1% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 10.1%, ลาตินอเมริกา เพิ่ม 6.6%, สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) เพิ่ม 18.7%, รัสเซียและซีไอเอส เพิ่ม 78.6% แต่ตะวันออก กลางลด 6.7% และแอฟริกาลด 5.7%
ขณะที่สินค้านำเข้าเดือนส.ค.61 พบว่า นำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง เพิ่ม 37.9%, สินค้าทุน เพิ่ม 6.2%, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่ม 37.8%, สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่ม 9.6% เป็นต้น
ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้น มองว่าเป็นผลจากที่นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทย จึงนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และจากที่ได้มีการหารือกับนักลงทุนต่างประเทศในหลายบริษัท เช่น จีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป ได้เริ่มหันมาสนใจการลงทุนในไทยมากขึ้น โดยมองว่าประเทศไทยมีเสถียร ภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายอุตสาหกรรมชัดเจนที่จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และที่สำคัญคือโรดแมปการเลือกตั้งที่ชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
“ปัจจัยภายในประเทศคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ที่ห่วงคือปัจจัยต่างประเทศ เรื่องความไม่มีเสถียรภาพในระดับมหภาคและเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งก็อาจกระทบต่อรายได้การส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตร และอาหาร ทาง สนค. จึงอยากให้ผู้ประกอบการใช้เงินสกุลอื่นๆ ในการทำการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐบ้าง เช่น เงินหยวน หรือการใช้สกุลเงินบาทกับกลุ่ม CLMV รวมทั้งทำประกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทจากปัจจัยภายนอกด้วย”