“สมคิด”ค้ำยันการบินไทย
“สมคิด” วางแผนกู้ภาพลักษณ์บริษัท การบินไทย ทุ่มทั้งเงิน ทั้งคน หวังดัน สายการบินแห่งชาติ ขึ้นแทน “National Premium Airline” พร้อมจับมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูมธุรกิจท่องเที่ยว “การบินไทย-ททท.-เอโอที-กรุงไทย” ฝันไทยเป็นศูนย์กลางบินอาเซียน
“ถ้าเราลงทุนแสนล้านเพื่อซื้อเครื่องบินใหม่ยังไม่พอ ผมจะเพิ่มให้อีก เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผมเดินทางมาตรวจเยี่ยมกิจการแห่งนี้ 3 ครั้งแล้ว และทุกครั้งก็มอบนโยบายเพื่อฟื้นฟูกิจการ แต่ไม่เคยสำเร็จ” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก รัฐมนตรี กล่าวบนเวทีของห้องประชุมบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2561 โดยมีการถ่ายทอด สดผ่านFacebook Lite ไปทั่วโลก
“ผมจะให้โอกาสบอร์ดและฝ่ายบริหารอีก 3 เดือน ก่อนสิ้นปีนี้ หากไม่เสนอแผนซื้อเครื่องบินภายใน ระยะเวลาที่เหลือก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ผมมีสิทธิ์ที่จะโยกย้ายใครก็ได้” นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท การบินไทยได้ในงานเสวนา “สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน” โดยมีนายสมคิด นั่งฟัง3 ชั่วโมงเต็มตั้งแต่จนจบ พร้อม รมว.คลัง และรมว.คมนาคม และผู้เข้าร่วมฟังทั้งพนักงานและสื่อมวลกว่า 500 คน
โดยนายสมคิด กล่าวว่า บริษัทการไทย ต้องไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน ทั้งแผนการจัดซื้อเครื่องบิน การวางเส้นทางการบิน และแผนงานเพิ่มรายได้ให้กับการบินไทย ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่พอใจกับราย ได้ที่มีอยู่ ซึ่งเรื่องขาดทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ต้องมีการวางยุทธศาตร์ระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่และยังมีความหวังที่จะเห็นการบินไทยเป็นสายการบินชั้นนำ
“การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นการสื่อสารให้กับพนักงานการบินไทยได้รับรู้ทิศทางและยุทธศาสตร์ว่า จะเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานต้องไปดูในรายละเอียดในทุกเรื่อง และทำออกมาให้ดี โดยไม่มีการรังแกใคร แต่ต้องแข่งขันกับสายการบินอื่นให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะลำบาก”
ส่วนการเสวนาซึ่งมีทั้งนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการททท. นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ KTB และนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. พร้อมด้วย ดีดี การบินไทย ก็เพื่อต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน โดย เฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่ง ททท.ต้องไปจัดทำแผนให้เกิดการเชื่อมโยงทางการบินระหว่างเหมืองหลักไปสู่เมืองรอง เพื่ออำนวยให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า บริษัทฯจะทบทวนแผนการจัดซื้อเครื่องบินรอบใหม่มูลค่า 100,000 ล้านบาท จำนวน 23 ลำ หลังจากปรับยุทธศาสตร์คาดว่าจะใช้เวลาภายใน 3 เดือน โดยไปพิจารณา Network และเส้นทางบิน เนื่องจากตนและนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) THAI เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นานจึงไม่เห็นแผนการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว
“แผนที่เรากำลังจะทบทวน มันอาจจะไม่ใช่แสนล้านบาท อาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่า ยังไม่สามารถตอบไทย เพราะการทบทวนใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องบิน 23 ลำ แต่ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ใหม่ เส้นทางเดิมและใหม่ ขนาดของเครื่องบิน ระยะ ทางบิน ต้องสอดคล้องกับ Network และพันธมิตร” นายเอกนิติ กล่าว
ส่วนแผนการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการราว 6,000 ล้านบาทนั้น ที่ประ ชุมคณะกรรมการการบินไทยเมื่อวันที่ 19 ก.ย.อนุมัติผลการศึกษา MRO ที่สนามบินอู่ตะเภาแล้ว โดยคงแผนลงทุนของการบินไทยสัดส่วน 50% และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) ที่จะพิจารณาแผนในเดือนต.ค.นี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคาดว่าจะเปิดประกาศร่างเอกสารคัด เลือกเอกชนร่วมลงทุน (TOR) ได้ในปลายปีนี้
“แผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย อาจจะไม่ใช่แค่แสนล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2561) การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มมาเพียง 3 ลำ เป็น 103 ลำ ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดกลับปรับลดลงเหลือ 27.3% จาก 37.1% หรือส่วนแบ่งตลาดหายไป 10%” นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี การบินไทย กล่าวและกล่าวว่า
“เราน่าตระหนกมากว่าหากผ่านไปอีก 5 ปี จะหายไปอีก 10% ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย” และ แผนใหม่ จะไม่ใช่แค่การลงทุนซื้อเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปรับปรุงองค์กรทั้งหมด”
โดยตั้งเป้าหมายว่า ปี2563 การบินไทยจะหยุดการขาดทุน และมีกำไรอย่างยั่งยืน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน แม้มาร์จิ้นจะบางลงเรื่อยๆ จากต้นทุนสูงขึ้น และการใช้เครื่องบินหลากหลายประเภท… ดีดี การบินไทย กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมให้ความช่วยเหลือการบินไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้องค์ กรแห่งนี้ สามารถยืนได้ด้วยตนเอง และหลุดพ้นจากการขาดทุน ซึ่งประเด็นของการซื้อเครื่องบินมูลค่า 100,000 ล้านบาท ยังอยู่ในช่วงของการหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ แต่เนื่องจากประเด็นการซื้อเครื่องบินใหม่ ฝ่ายรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นด้วย กระทรวงการคลังก็ไม่ขัดข้องแม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาทก็ตาม เพราะการมีเครื่องบินใหม่จะทำให้ต้นทุนถูกลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง และเครื่องบินใหม่ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้โดยสารก็อยากขึ้นเครื่องบินลำใหม่มากกว่าลำเก่า.