กอนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่งบริเวณประเทศไทยตอนบน – ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วงวันที่ 26 ส.ค. – 3 ก.ย. นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 8/2564 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง บริเวณประเทศไทยตอนบน – ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 26 ส.ค. – 3 ก.ย. นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 8/2564 ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศพบว่า อิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน โดยในช่วงวันที่ 25 – 30 สิงหาคม 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ในช่วงวันที่ 26 สิงหาคม – 3 กันยายน 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้ เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุดรธานี ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี และภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 20 แห่ง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยช้าง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่งอน และอ่างเก็บน้ำน้ำแหง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย อ่างเก็บน้ำห้วยสหาย อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น อ่างเก็บน้ำห้วยส้มโฮง อ่างเก็บน้ำห้วยหินลับ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ อ่างเก็บน้ำห้วยทา อ่างเก็บน้ำห้วยขาหน้า อ่างเก็บน้ำลำตะโคง และอ่างเก็บน้ำห้วยตาเขียว ภาคตะวันออก จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 1 อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล และอ่างเก็บน้ำช่องกล่ำล่าง ภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ
รวมถึงเฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และภาคใต้ บริเวณแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน บริเวณ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงอุบลราชธานี
อย่างไรก็ตาม กอนช. ได้เตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เร่งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมทั้งการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้รับทราบ เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์.
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
25 สิงหาคม 2564