สรุปข่าวประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2564
หุ้นไทยสัปดาห์หน้า : บล.กสิกรไทย คาดดัชนีหุ้นไทยช่วง 16-20 ส.ค. มีแนวรับที่ 1,513 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,555 จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 ของไทย สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ การเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่เดือน ก.ค. ตลอดจนบันทึกการประชุมเฟด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสากรรมเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค.ของยูโรโซน การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน
น้ำมันดิบเริ่มลง : หลังจากทยอยขึ้นไปเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ตอนนี้ ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าเริ่มกลับมาดิ่งลงบ้างแล้ว โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือน ก.ย. เช้านี้ -1.06ดอลลาร์/บาร์เรล (-1.53%) ปิดที่ 67.89 ดอลลาร์/บาร์เรล เช่นกัน สัญญาซื้อข่ายล่วงหน้าของน้ำมันเบรนท์ ส่งมอบเดือน ต.ค. -1.07 ดอลลาร์/บาร์เรล (-1.50%) ปิดที่ 70.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทองพุ่งต่อเนื่อง : ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่องสำหรับราคาขายทองคำ Spot ดอลลาร์สหรัฐ ที่ปิดตลาดช่วงเช้า 15 ส.ค.ของไทย ขยับขึ้นถึง +26.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (+1.53%) ปิดที่ 1,779.81 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แน่นอนว่า ราคาทองไทยในไทย ย่อมขยับตัวขึ้นตาม หลังจากวันก่อนพุ่งถึง 350 บาท โดยสมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาทองคำเมื่อ 14 ส.ค. เพียงครั้งเดียว เพิ่มขึ้นจากราคาปิดวานนี้อีก 250 บาท กำหนดราคาซื้อทองคำแท่ง บาทละ 27,900 บาท ขาย 28,000 บาท ขณะที่ราคาซื้อทองคำรูปพรรณ 27,394.12 บาท และขาย 28,500 บาท.
ค่าบาทสัปดาห์หน้า : แบงก์กสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทช่วง สัปดาห์หน้า (16-20 ส.ค.64) มีกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่นเดียวกับข้อมูลหุ้นสัปดาห์หน้าด้านบน.
10 จ.+8 คลัสเตอร์ : ศบค. ระบุ 10 จ.แรกที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 5,088 ราย สมุทรสาคร 1,819 รายสมุทรปราการ 1,598 ราย ชลบุรี 1,254 ราย นนทบุรี 867 ราย นครปฐม 724 ราย สระบรี 686 อุบลราชธานี 395 ราย อยุธยา 379 ราย ฉะเชิงเทรา 366 ราย โดยพบ 8 คลัสเตอร์ใหม่ ที่ จ.สมุทรสาคร อ.เมือง พบผู้ป่วยใหม่ที่บริษัทถุงพลาสติก 13 ราย , จ.สมุทรปรากรพบ 2 คลัสเตอร์ คือโรงงานห้องเย็น อ.เมืองสมุทรปราการ พบผู้ป่วย 12 ราย และสถานคุ้มครองผู้พิการ อ.พระประแดง พบผู้ป่วย 30 ราย , จ.ชลบุรี อ.เมืองชลบุรี พบที่บริษัทอาหารทะเล 11 ราย.
บุษราคัมรับเยอะ : ปลัด สธ. ชี้! มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,086 ราย หายป่วยกลับบ้าน 23,672 ราย เสียชีวิต 217 ราย เป็นแนวโน้มดีที่มีผู้หายป่วยมากขึ้น ขณะนี้ รพ.ทุกสังกัดรับรักษาผู้ป่วยโควิดฯเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการปานกลาง (เหลือง) และผู้ป่วยอาการหนัก (แดง) ส่วน รพ.บุษราคัมรับผู้ป่วยเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูล 13 ส.ค. ระบุมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,473 ราย อาการปานกลางถึงค่อนไปทางหนัก 3,334 ราย และอาการหนัก 139 ราย ต้องใช้ออกซิเจนอัตราไหลสูง 132 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 7 ราย.
หายป่วยฯไม่แยกกักตัว : อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ว่า โควิดฯยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง ต้องเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้สัมผัสเชื้อที่อยู่ในบ้านและชุมชน เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยฯที่ได้รับการรักษาจนหายป่วยแล้ว ต้องกลับไปพักฟื้นหรือกักตัวต่อที่บ้านตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ โดยไม่ต้องแยกกักตัวอีกแล้ว โดยขณะนี้มีวันละกว่า 20,000 รายทั่วประเทศ โดยยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 13 ส.ค. มีผู้หายป่วยฯ 640,130 ราย.
สมุทรสาครฉีดยันสัปเหร่อ : ผจว.สมุทรสาคร ขอให้ นพ.สธ.สมุทรสาคร วางแผนฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้บุคลากรด่านหน้าที่อย่างแท้จริง ตั้งแต่บุคลากรทางแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. จนท.ประจำศูนย์ CI จนท.ดูแลผู้ติดเชื้อ HI มูลนิธิองค์กรการกุศลต่างๆ ที่นำส่งผู้ติดเชื้อหรือเก็บศพผู้เสียชีวิต ไปจนถึงสัปเหร่อของวัดที่ทำหน้าที่รับเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด เพราะถือว่าเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานด้านโควิดให้เป็นไปด้วยความสุจริตและโปร่งใส.
ช่วยลูกหนี้รายย่อย : โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุราชกิจจาฯได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ ไม่เกิน 1 พันบาท จะมีผลบังคับหลังจากประกาศในราชกิจจาฯ 30 วัน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้รายย่อยกว่า 12.24 ล้านบัญชี ทั้งนี้ ได้กำหนดค่าทวงหนี้งวดแรก 50 บาท ถ้าต่ำกว่า 1 พันไม่ให้เก็บ มีผลต้น ก.ย.64.
สวนกทม.ลดเรือนกระจก : ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุ ได้ส่งสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ15 แห่ง เข้าร่วมตรวจประเมินในปี 63 โดยได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ลดการเกิดของเสีย นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีสวนสาธารณะที่ได้รับรางวัลตราสัญลักษณ์ ระดับประเทศ ระดับดีมาก (G เงิน) 8 แห่ง ได้แก่ 1) สวนลุมพินี 2) สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 3) สวนรมณีนาถ 4) สวนสราญรมย์ 5) สวนหลวง ร.9 6) สวนธนบุรีรมย์ 7) สวนทวีวนารมย์ 8) อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร.