คลังหั่นจีพีดี’64 เหลือ 1.3% ชี้! ไม่กระทบหนี้สาธารณะ
พิษโควิดฯระลอกใหม่ บีบคลังปรับลดจีดีพีจาก 2.3% เหลือ 1.3% ยอมรับวิกฤตรอบนี้ ทำรายได้ภาษีหดไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ย้ำ! สบน.เกาะติดสถานการณ์ พร้อมบริหารการกู้เงิน เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 60% ของจีดีพี ระบุ! รัฐบาลแก้ กม.วินัยการเงินการคลัง รองรับสัดส่วนหนี้ประเทศพุ่งเกินลิมิตได้ มั่นใจ! เศรษฐกิจไทยปีหน้าดีแน่ ตั้งจีดีพีโตที่ 4-5%
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 ว่า จาก 4 ปัจจัยหลักสำคัญ คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ข้อจำกัดการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก, และทิศทางนโยบายการเงินของโลก ส่งผลให้กระทรวงการคลังต้องปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงจากเดิม (เม.ย.2564) ที่ 2.3% เหลือ 1.3% (ช่วงคาดการณ์ 0.8-1.8%)
“คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ 1.3 % ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.0 – 5.0 %ต่อปี จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง” โฆษกกระทรวงการคคลัง ระบุ
ส่วนกรณีหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งปัจจุบันขยับไปอยู่ที่ 58.88% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับประมาณการจีดีพีเดิมที่ 2.3% แต่เมื่อปรับลดจีดีพีลงเหลือ 1.3% จะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะหรือไม่? โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า จากการหารือกับ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทราบว่า สบน.จะติดตามสถานการณ์และคอยบริหารการกู้เงินในลักษณะทยอยกู้ฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบสัดส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่ 60%
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาล โดย คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ เห็นว่าจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ได้
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะรายได้ภาษีนั้น น.ส.กุลยา ยอมรับว่า ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 นั้น การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าประมาณการเดิมราว 1.59 แสนล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ 2.67 ล้านล้านบาท ราว 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลังไม่ได้กังวลใจ เนื่องจากยังมีเงินคงคลังกราว 4 แสนล้านบาทรองรับ และแม้การจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าประมาณเดิม ก็คงไม่ส่งผลกระบต่อเงินคงคลังมากนัก
โฆษกกระทรวงการคลัง ยังกล่าวอีกว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2.ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4.ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ในระยะต่อไป.