ชี้เศรษฐกิจไทย Q3 อาจชะลอตัว
กกร.มองเศรษฐกิจไตรมาส 3 อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออก ส่วนครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาดี เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น เชื่อการบริโภคเอกชนและภาคเกษตรทั้งปีขยายตัว มั่นใจจีดีพีไทยโต 4.8% ด้านสภาอุตฯ วอนรัฐ อย่าล้มกองทุนขยะอิเล็กทรอนิกส์ หวั่นเอกชนดูแลไม่ดีพอจนอาจกระทบมลภาวะพิษ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุม กกร.ประจำเดือนกันยายน โดยยังคงใช้คาดการณ์เดิมที่เคยมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเมื่อช่วงต้นไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม) โดยชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ยังคงขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออก, การท่องเที่ยว, การบริโภคภาคเอกชน และการผลิตภาคการเกษตรที่ขยายตัวสูง
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกยังคงรักษาแรงส่งการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ที่อัตราเติบโต 4.3 – 4.8% การส่งออกโต 7-10% ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ 0.9-1.5% (YOY) แม้ว่าแนวโน้มในไตรมาสต่อไป อาจประสบกับปัญหาการชะลอตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวบ้างก็ตาม อย่างไรก็ตาม กกร.จะประเมินและพิจารณาปรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 แล้ว
“กกร.มองว่าช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตในแบบผ่อนแรงลงบ้าง เป็นผลมาจากการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวของการส่งออก เนื่องจากปีที่ผ่านมาการส่งออกมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก จนฐานการส่งออกขยับไปสูง ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ชื่อว่าจะดีขึ้น เหมือนกับการท่องเที่ยวที่น่าจะเติบโตได้ดี เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น ทั้งในส่วนของการจับจ่ายใช้สอยและหาซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติในเวลาหลังจากนี้ จึงน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยได้บ้าง” นายปรีดีกล่าว และว่า…
“ปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงินของตุรกี หรือวิกฤติเศรษฐกิจของเวนาซุเอลา เชื่อจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ภาวะเกินดุลอย่างต่อเนื่อง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีสูงมากติดอันดับโลก รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงมีเสถียรภาพ ทำให้ไม่เกิดปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายเหมือนหลายๆ ประเทศ”
ด้านนายกลินท์ สารสิน กล่าวว่า อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทย คือ การที่ไทยได้รับการจัดอันดับด้านโลจิสติกส์จากธนาคารโลก ให้มีอันดับที่ดีขึ้นทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค จนปัจจุบันระบบโลจิสติกส์ของไทยได้ก้าวขึ้นมาสู่อันดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์ นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็ได้ดำเนินการปรับกระบวนการทำงานในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของพิธีการศุลกากร ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับสมรรถภาพของการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ของไทย จึงเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนเองหันมาร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์ของไทยให้ดีและมีมาตรฐานมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีและมีต้นทุนที่ต่ำลง
ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวถึงปัญหาที่ กกร.ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กรณีที่รัฐบาลอาจยกเลิกการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลขยะพิษฯ หลังจากที่มีหลายฝ่าย รวมถึงกฤษฎีกา ต่างเห็นพ้องที่จะให้ยกเลิกการตั้งกองทุนดังกล่าวใน ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ….. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยย้ำว่า หากรัฐบาลตัดทิ้งกองทุนดังกล่าว เพื่อโยนให้ผู้ประกอบเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้เป็นฝ่ายรับผิดชอบก็อาจเกิดปัญหาตามมา กล่าวคือ เมื่อไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามารับผิดชอบปัญหาขยะพิษ การดำเนินการของภาคเอกชน ก็อาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการดูแลและการบริหารจัดการเกี่ยวกับขยะพิษในอนาคต จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาและทบทวนในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ.