สบน.ยัน! ต้นทุนกู้เงินรัฐเหมาะสม-รับความเสี่ยงได้
ผอ.สบน.ตอบข้อสงสัย อดีตขุนคลัง ย้ำ! รัฐบาลกู้เงินภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงชี้แจงกรณี “อดีต รมว.คลัง” นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการกู้เงินของ สบน.และต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล ผ่าน Facebook โดยยืนยันว่า สบน.ใช้พันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือการระดมทุนหลัก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืน ควบคู่กับการกระจายการกู้เงินผ่านเครื่องมืออื่น ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญากู้ยืมเงิน พันธบัตรออมทรัพย์ และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อดูแลให้สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้มีเพียงพอสำหรับการรองรับการกู้เงินจากทั้งภาครัฐและเอกชน และป้องกันไม่ให้ความต้องการกู้เงินที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการกู้เงินเพิ่มขึ้น
การออกตราสารหนี้ของรัฐบาลเป็นการดำเนินการภายใต้กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อ การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลจะดำเนินการผ่านการประมูลตราสารหนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)โดยจะพิจารณาจากผู้ที่เสนออัตราผลตอบแทนต่ำที่สุดเป็นหลัก ซึ่งนักลงทุนที่เข้าร่วมการประมูล ได้แก่ ผู้ค้าหลักสำหรับธุรกรรมประเภทซื้อขายขาดของกระทรวงการคลัง(Primary Dealer) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคมสหกรณ์ ตลอดจนนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับ การออกพันธบัตรออมทรัพย์จะดำเนินการผ่านการจำหน่ายโดยตรงให้กับนักลงทุนรายย่อย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ นิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร และประชาชนทั่วไปเพื่อส่งเสริมการออมของนักลงทุนรายย่อย และการออกตั๋วสัญญาใช้เงินและการทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์จะดำเนินการผ่านการเสนอประมูลอัตราผลตอบแทนหรือวิธีการเสนอซื้อโดยพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเช่นกัน
ส่วนประเด็นการบริหารจัดการต้นทุนการกู้เงิน สบน.ได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium Term Debt Strategy: MTDS) โดยครอบคลุมความเสี่ยง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้านอัตราดอกเบี้ย และด้านการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อบริหารต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ มีความยืดหยุ่นตามภาวะตลาดการเงินที่ผันผวน ตลอดจนสามารถทำให้ Portfolio หนี้ของรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้และการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับประเทศ
นอกจากนี้ สบน. ได้ปรับกลยุทธ์การกู้เงินของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 สบน. ได้เพิ่มสัดส่วนการออกตราสารหนี้ระยะสั้น ได้แก่ ตั๋วเงินคลังอายุ 6 เดือน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี ให้ความสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนและลดต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล
โดยร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การระดมทุนของรัฐบาลกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลเพียงเครื่องมือเดียวหรือกระจุกตัวในรุ่นอายุใดอายุหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้การระดมทุนของภาครัฐไปแย่งเงินลงทุนจากภาคเอกชน (Crowding-Out-Effect) และเสริมสร้างสภาพคล่องในตลาดการเงิน ดังนั้นภายหลังจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลปรับลดลงจากร้อยละ 3.34 ในเดือน ม.ค. 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.46 ในเดือน พ.ค. 2564
“ขอย้ำว่า สบน. ได้วางแผนและดำเนินการกู้เงินโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ความต้องการของนักลงทุน โดยคำนึงถึงต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญอีกทั้งได้วางแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในภาพรวม อาทิ การบริหารความเสี่ยง การปรับโครงสร้างหนี้ และการชำระหนี้ควบคู่กันไปด้วยดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สบน.ได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและกรอบวินัยทางการคลัง” นางแพตริเซีย ระบุ.