รสก.เบิกจ่ายงบลงทุนพุ่ง เผย! มีส่วนดันเศรษฐกิจไทย
สคร.แจง! ภาพรวมรัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง มีส่วนผลักดันการลงทุนภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ เผย! ยอดเบิกจ่ายสะสมพุ่งกว่า 101%
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงการเบิกจ่ายบประมาณเพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง ว่า ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2564 พบรัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมเป็นไปตามแผน โดยสามารถเบิกจ่ายได้ 148,245 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม
ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุน 8 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่ ต.ค. 2563 – พ.ค.2564) 34 แห่ง จำนวน 102,433 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และการเบิกจ่ายงบลงทุน 5 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (ม.ค. – พ.ค.2564 ) 9 แห่ง จำนวน 45,812 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของแผนเบิกจ่ายสะสม
ด้าน น.ส.ปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเสริมว่า ณ สิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผนหรือสูงกว่าแผน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของ รฟท. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ของ รฟม. งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 ของ กฟผ. และโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 2 ของ กฟภ.
ทั้งนี้ มี โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ปีงบประมาณ 2554 – 2560) และ โครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร และโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ของ รฟท. และ โครงการแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง
ด้าน ผอ. สคร. กล่าวสรุปว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีและเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ สคร. ได้ทำงานร่วมกับกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามแผน และติดตามการแก้ไขปัญหากรณีที่การดำเนินการล่าช้ากว่าแผนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต่อไป.