สรรพากรแจง! เหตุเตือนยื่นภาษี หวั่นซ้ำเติมเก็บ “ค่าปรับ-เงินเพิ่ม”
กรมสรรพากรย้ำ! ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ 6 หมื่นบาทขึ้นไป/ปี ต้องเสียภาษี ระบุ! เหตุแจ้งเตือนเพราะไม่อยากให้เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม หากยื่นฯล่าช้าเกินกำหนด เผย! เตรียมส่ง “ทูตภาษี” ทั่วประเทศ เดินสายแนะนำผู้ประกอบการทั้งออนไลน์ออฟไลน์ยื่นแบบฯ และชำระภาษีให้ถูกต้อง
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ค้าออนไลน์ได้โพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียว่าได้รับหนังสือแจ้งจากกรมสรรพากรให้มายื่นภาษีเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ว่า การที่กรมสรรพากรได้ดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนถึงผู้เสียภาษีข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ แต่ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ทราบว่า มีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ
ทั้งนี้ เมื่อมีรายได้ต่อปีถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมาย จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่ม เพราะตามหลักแล้ว ผู้ที่มีรายได้จากการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าออนไลน์หรือขายสินค้าทั่วไป เมื่อมีรายได้ต่อปีเกิน 60,000 บาทขึ้นไป ทุกคนก็จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบฯ และในกรณีที่ไม่ได้ยื่นแบบภายในกำหนดเวลาต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ
นอกจากนี้ กรมสรรพากรไม่ได้มีเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าขายเฉพาะรายใดรายหนึ่ง หรือจากโครงการใดโครงการหนึ่ง และไม่ได้มุ่งเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรัฐแต่อย่างใด พร้อมกับ ขอยืนยันว่ากรมสรรพากรได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่และไม่ต้องการให้เกิดกรณีที่ผู้ประกอบการต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่ม เนื่องมาจากยื่นแบบเกินกำหนดเวลา เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้
“แต่เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทุกคน เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ทุกราย” โฆษกกรมสรรพากร ระบุ พร้อมเสริมว่า…การยื่นแบบและชำระภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ค้าออนไลน์สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอย่างง่าย ได้ที่ www.taxliteracy.academy
นอกจากนี้ กรมสรรพากรจัดให้มีทูตภาษี (Tax Ambassador) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียภาษีและประชาชนเพื่อให้ชำระภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร RD Intelligence Center 1161.