กอช.ดึงกยศ.รุกเพิ่มสัดส่วนผู้ออมฯกลุ่มนร.-นศ.
“ปลัดคลัง” นำทีม “กอช.-กยศ.” ผนึกสร้างฐานเงินออมในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ตั้งเป้าขยายสัดส่วนเป็น 20-25% ของกลุ่มผู้ฝากฯ 2.4 ล.คน ด้าน “จารุลักษณ์” เตรียมเจรจา ศธ. รุกเข้าถึง 2 กลุ่มเด็กและเยาวชน ขณะที่ “ชัยณรงค์” เผย! ให้ลูกหนี้เข้าร่วม กอช. สะแสมแต้มกิจกรรมเพื่อสังคมฯได้เดือนละ 1 ชม. ย้ำ! ลูกหนี้ใหม่ ไม่ต้องมีคนค้ำประกันอีกแล้ว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะ ปธ.คกก.กองทุนการออมแห่งชาติ และปธ.คกก.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นปธ.ในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการส่งเสริมการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ระหว่าง กองทุนการออมแห่งชาติ กับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เมื่อช่วงสายวันที่ 22 มิ.ย.2564 ณ กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา กล่าวว่า กอช. เป็นกองทุนการออมภาคประชาชน เพื่อได้มีเงินบำนาญรายเดือนไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งกองทุนนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติขับเคลื่อนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การบูรณาการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน กยศ. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เยาวชน ได้มีทุนทรัพย์ในการศึกษาเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือนในช่วงขณะเรียน
ส่วน กอช. ส่งเสริมให้รู้จักการออม รู้จักการบริหารจัดการเงิน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้วางแผน การเก็บออมตั้งแต่วัยเรียน จนถึงวัยทำงาน เพื่ออนาคตจะได้มีเงินบำนาญที่เพียงพอเป็นหลักประกันในการใช้จ่าย
การออมกับ กอช. ถือเป็นการออมขั้นพื้นฐาน โดยออมเริ่มต้นเพียง 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุของสมาชิกสูงสุด 1,200 บาทต่อปี ถ้าเยาวชนมีวินัยการออมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในอนาคตจะมีเงินออมรวมล้านกว่าบาท โดย กอช. จ่ายคืนในรูปแบบเงินบำนาญรายเดือน ทั้งนี้ กอช. และ กยศ. ได้ร่วมกันบูรณาการการทำงานในการส่งเสริมให้คนไทยได้รู้จักการบริหารจัดการเงินที่ดี และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น
ด้าน น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. เสริมว่า กอช.ป็นกองทุนบำนาญภาคประชาชนมีภารกิจผลักดันให้ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี ไม่มีสวัสดิการจากรัฐบาลได้เข้าถึงการออม โดยทุกครั้งที่ส่งเงินออมสะสม จะได้เงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ เช่น อายุ 15 – 30 ปี รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐ 50% สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี หรือ คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 4% อายุมากกว่า 30 – 50 ปี รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐ 80% ของเงินออม สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี หรือคิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำประมาณ 7% อายุมากกว่า 50 – 60 ปี รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐ 100% ของเงินออม สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี หรือคิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำประมาณ 9%
“ปัจจุบันเรามีสมาชิกราว 2.4 ล้านคน แต่ในส่วนของนักเรียนนักศึกษายังมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก มีเพียง 16% ขณะที่กลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไปสัดส่วนมากสุดราว 50% เช่นเดียวกันกลุ่มเกษตรกร ดังนั้นในปีนี้ กอช.จึงจะรุกไปยังกลุ่มนักเรียนนักศึกษาให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนที่ 20-25% ซึ่งความร่วมมือกับ กยศ. ก็เป็นหนึ่งในแผนการเพิ่มสัดส่วนคนกลุ่มนี้ และยังมีแผนไปเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการในช่วงปลายปีนี้อีกด้วย” น.ส.จารุลักษณ์ ระบุ
ขณะที่ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผจก.กยศ. กล่าวว่า กยศ.ได้จัดเตรียมเงินรองรับความต้องการเงินกู้เพื่อการศึกษาในปีนี้ราว 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของนักเรียนและนักศึกษาทุกคน ปัจจุบัน มีนักเรียนนักศึกษา ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุนฯทุกระดับ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 – 2563 รวม 5.9 ล้านราย โดยมีนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมในแต่ละปีราว6 แสนราย
ทั้งนี้ กองทุนฯกำหนดคุณสมบัติให้ผู้กู้ยืมทุกคนจะต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะ 36 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้ผู้กู้ยืมได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้กู้ยืม ซึ่งความร่วมมือกับ กอช.ถือเป็นอีกการทำกิจกรรมเพื่อสังคมฯ โดย กศย.กำหนดให้ผู้ที่ออมเงินกับ กอช.ขั้นต่ำเดือนละ 50 บาท จะเป็นการสะสมชั่วโมงจิตสาธารณะได้ 1 ชั่วโมงต่อเดือน
ส่วนกรณีที่สร้างปัญหา โดยเฉพาะการค้ำประกันเงินกู้ กยศ.นั้น ล่าสุด นายชัยณรงค์ ระบุว่า จากนี้ไป สำหรับผู้รู้รายใหม่ จะไม่มีการค้ำประกัขอนเงินกู้อีกต่อไป ส่วนลูกค้าเก่าที่ถูกกำหนดให้ต้องมีคนค้ำประกันเงินกู้นั้น ไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้สามารถขอผ่อนชำระ หรือหากมีปัญหาจนไม่สามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ได้ ก็อยากให้มาเจรจาเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดและทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งนี้ แม้จะเป็นกรณีฟ้องร้องดำเนินคดี ทาง กยศ.ก็พร้อมให้การช่วยเหลือลูกหนี้รายนั้นๆ ต่อไป.