กรมศุลฯแจงจับ “ยาเสพติด-เหล็กเลี่ยงอากรทุ่มตลาด”

กรมศุลฯแจงจับรายเดือน ชี้ พ.ค.นี้ จับยาเสพติดถึง 9 คดี ระบุ! แก๊งค้ายาใช้ผ่านช่องทางพัดุไปรษณีย์มากสุด อีกเคสท์ จับใหญ่แผ่นเหล็ก ฐานเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด เผย! จับรวมตลอดเดือน 1,918 คดี มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือน พ.ค. 2564 ว่า ตามที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายให้การเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กรมฯจึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES
ทั้งนี้ จากการสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่า มีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ป.ป.ส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน

ล่าสุด ได้ผลการตรวจพบการกระทำผิดดังกล่าว รวม 1,918 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 91.93 ล้านบาท โดยมีผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 มีดังนี้
1. ผลการจับกุมยาเสพติดให้โทษประเภทโคคาอีน
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 กรมศุลกากรโดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพและกองสืบสวนและปราบปราม พร้อมชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force: AITF ได้ทำการตรวจยึดพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ จำนวน 1 หีบห่อ ณ บริเวณศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผลการเปิดตรวจพบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 0.63 กิโลกรัม มูลค่า 2 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กรมศุลกากรโดยกองสืบสวนและปราบปรามและสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force: AITF ได้ทำการตรวจสอบพัสดุที่มาจากต่างประเทศ พบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ซุกซ่อนอยู่ในผนังกลองทำด้วยไม้ น้ำหนักประมาณ 434 กรัม มูลค่า 1.3 ล้านบาท ซึ่งชุดปฏิบัติการได้ทำการขยายผล จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ชุดปฏิบัติการได้ทำการตรวจสอบพบการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ซุกซ่อนอยู่ในไส้กรองอากาศ น้ำหนัก 610 กรัม มูลค่า 1.8 ล้านบาท รวมมูลค่า 3.1 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กรมศุลกากรโดยกองสืบสวนและปราบปรามและสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศสุวรรณภูมิ พร้อมชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force: AITF ได้ทำการตรวจสอบพัสดุที่มาจากต่างประเทศ พบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ซุกซ่อนอยู่ในผนังกลองทำด้วยไม้ น้ำหนักประมาณ 919 กรัม มูลค่า 2.75 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือน พ.ค. มีจำนวน 9 คดี มูลค่า 13.82 ล้านบาท
2. ผลการจับกุมเหล็กแผ่น

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กรมศุลกากรโดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าซึ่งสำแดงชนิดสินค้าเป็น เหล็กแผ่นรีดเย็น (เหล็กเจือ) เคลือบด้วยโลหะเจือของอลูมิเนียม สังกะสี และซิลิคอนแบบจุ่มร้อน ไม่ทาสี (GALVALUME STEEL SHEET IN COILS BORON ADDED) ผลการตรวจเอกสาร Mill Test Certificate ของสินค้า พบว่าเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็น ชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของสังกะสี มีซึ่งต้องเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เป็นเหตุให้ภาษีอากรขาดรวมทั้งสิ้น 19,691,895.42 บาท
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กรมศุลกากรโดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าซึ่งสำแดงชนิดสินค้าเป็น เหล็กแผ่นรีดเย็น (เหล็กเจือ) เคลือบด้วยโลหะเจือของอลูมิเนียม สังกะสี และซิลิคอนแบบจุ่มร้อน ไม่ทาสี (GALVALUME STEEL SHEET IN COILS BORON ADDED) ผลการตรวจเอกสาร Mill Test Certificate ของสินค้า พบว่าเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็น ชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของสังกะสี ซึ่งต้องเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เป็นเหตุให้ภาษีอากรขาดรวมทั้งสิ้น 11,073,851.18 บาท.