พักหนี้ “SME” ต้องรอด !!

เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นง่าย หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ยังคง เป็นอยู่เช่นนี้
เช่นนี้แล้ว กลุ่ม SMEs ที่เปรีบยเสมือนท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของประเทศ ยังต้อง สะบักสะบอม กับผลกระทบที่ได้รับ แรงงานกว่า 12 ล้านชีวิตก็ยังต่ออยู่กับสภาวะเสี่ยงกันต่อไป
แต่ SMEs ก็ยังพอได้หายใจ หายคอ กันบ้าง เมื่อ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) ได้มี มติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือ SME ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ในรอบแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ได้มีมติให้พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
รอบที่ 2 อัดงบอีกกว่า 1,700 ล้านบาท ช่วยเหลือ โดยมีกรอบวงเงินการให้สินเชื่อ 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการปรับปรุงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการ ในสถานการณ์ภัยแล้งหรือโควิด-19
มาตรการดังกล่าวเป็นการ เปิดรับคำขอสินเชื่อจาก SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ และมีภาระหนี้เงินต้นวงเงินกู้สินเชื่อระยะยาว (Term Loan) คงเหลืออยู่กับกองทุน ตลอดจนไม่มีสถานะ NPLs หรือไม่อยู่ระหว่างถูกกองทุนดำเนินคดี และเป็นผู้ประกอบการที่มีสถานะการชำระเป็นปกติในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งจะพิจารณาให้ได้รับวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่ลูกหนี้สินเชื่อกองทุนฯ ชำระเงินต้นคืน ซึ่งกองทุนฯ จะดำเนินการปล่อยเงินกู้สินเชื่อระยะยาว สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อของกองทุน ฯ โดยมีกรอบวงเงินการให้สินเชื่อ 700 ล้านบาท นั้น คุณสมบัติของ SMEs ที่สามารถเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องเป็น SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ (วงเงิน 8,000 ล้านบาท) โดยการพิจารณาสินเชื่อในครั้งนี้ จะให้ความช่วยเหลือในด้านการบรรเทาภาระการชำระหนี้ ให้มีสภาพคล่องที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปในสภาวะวิกฤติ
รวมทั้งเป็นการลดแนวโน้ม การเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) โดยให้วงเงินสินเชื่อต่อราย สูงสุดไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่ลูกหนี้กองทุนฯชำระเงินต้นคืน มีระยะเวลากู้สุงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
ซึ่งทาง คณะกรรมการกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เชื่อมั่น ว่ามาตรการข้างต้นจะเป็นส่วนสำคัญในการพยุงกลุ่ม SMEs ของไทย ให้สามารถประคับประคองการดำเนินกิจการต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะชะลอปัญหาการเลิกจ้างได้
แต่แล้ววิกฤต โควิด- 19 ระลอกใหม่ ก็เกิดขึ้น ซ้ำเติมผลกระทบ จากสถานการณ์ในรอบแรก สร้างความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME เป็นเท่าตัว
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ บอกว่า โควิดรอบแรก ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ ยังไม่ฟื้น ก็มาเจอกับกับการระบาดระลอกใหม่ ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมผลกระทบ สร้างความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุน ฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID 19) อีกครั้ง
ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (Non NPL) หรือไม่อยู่ในระหว่างที่ถูกกองทุนดำเนินคดี ให้สามารถยื่นความประสงค์ขอพักชำระหนี้เงินต้นกับทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) โดยสามารถพักชำระหนี้ได้สูงสุด ไม่เกิน 6 เดือน และไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564
จากภาระที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทางกองทุนฯ มองเห็นความพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างสุดกำลังของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาโดยตลอด จึงต้องการเป็นอีกพลังช่วยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้อีกครั้ง โดยออกมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 นี้ เป็นมาตรการต่อเนื่องจากการให้ความช่วยเหลือก่อนหน้า
และเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายเล็กที่ประสบปัญหาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID19) และคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ดี ลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้น พร้อมขอรับการส่งเสริมพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การตลาด การผลิต การเงินและบัญชี ได้ที่ SME D BANK ทุกสาขาทั่วประเทศในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ได้ตั้งแต่ วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2564