PPP เร่งสร้างทางด่วน “กระทู้ – ป่าตอง” 1.4 หมื่นล.
สคร.แจงผลประชุม บอร์ด PPP ได้ยุติ 3 เรื่อง หนึ่งในนั้น เร่งเดินหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มูลค่าลงทุนรวม 1.4 หมื่นล้านบาท รองรับปริมาณการจราจร และเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้ทางในพื้นที่
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของ โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร ในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี (นับจากวันที่ กทพ. แจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน) โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 5,792 ล้านบาท ในขณะที่เอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียด การก่อสร้าง และการดำเนินการและบำรุงรักษา
โดย เอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงาน (BTO) ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน แก้ปัญหาจราจร และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเดินทางระหว่างเมืองภูเก็ตและหาดป่าตอง และมอบหมายให้ กทพ. เร่งรัดจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป เช่น ความพร้อมเรื่องที่ดินของโครงการ พร้อมทั้งสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย
2. คณะกรรมการ PPP ยังรับทราบความคืบหน้าและเร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ในกลุ่ม High Priority PPP Project ตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ ตลอดจนสามารถเพิ่ประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชน
3. นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้รับทราบแนวทางการกำหนดรายละเอียดในการวิเคราะห์ถึงหลักการและเหตุผลประกอบการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุน ตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการพิจารณาความสำคัญของโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 – 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการในกลุ่มดังกล่าวภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มีกรอบการพิจารณาที่ชัดเจน และช่วยให้การดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะมีความคล่องตัว และเป็นไปตามแผนที่กำหนด.