ธ.ก.ส.นำทีมฯมอบเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียน
ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. จับมือ มก. กำแพงแสน และ กสก. นำนวัตกรรมเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพทุเรียน หวังปัญหาการ “ทุเรียนอ่อน” กระทบความเชื่อมั่นของตลาดในและต่างประเทศ เผย! เทคโนฯนี้ ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าเกษตรไทย เตรียมพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรทันที
วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) และ รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (มก.กพส.) ร่วมมอบเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนให้กับ น.ส.ศิริพรรณ เจริญแพทย์ ตัวแทนเกษตรกร Smart Farmer จากจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำไปใช้ในการวัดน้ำหนักแห้งและทำให้ทราบถึงความอ่อน-แก่ของทุเรียน ซึ่งช่วยลดการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ณ ห้องโถง ชั้น 2 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร
นายธนารัตน์ กล่าวว่า ธนาคารฯมุ่งเน้นการยกระดับภาคเกษตรไทยโดยอาศัยนวัตกรรม ซึ่งมีนายจรูญเดช เจนจรัสสกุล กรรมการ ธ.ก.ส. และปธ. อนุ ก.ก.นวัตกรรมวิจัยและพัฒนาของธนาคารฯ ได้ให้แนวนโยบาย พร้อมทั้งคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกันผลักดัน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนข้อมูล และวิธีการดำเนินงานด้านนวัตกรรมกับภาคีเครือข่าย
อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (Agritech) อันจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและวางแผนการผลิตได้ตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตร
“ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการจำหน่ายทุเรียนอ่อนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้บริโภค และภาพลักษณ์ของสินค้าเกษตรของไทย ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกเป็นอย่างมาก จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. จึงได้ดำเนินการภายใต้โครงการแผนงานขับเคลื่อนนวัตกรรมเครือข่ายสู่ชุมชน โดยนำผลงานนวัตกรรมเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับเกษตรกรในชุมชนและคนในชนบท ควบคู่กับการขับเคลื่อนผ่านเกษตรกรต้นแบบในชุมชน หรือ Smart Farmer ของ ธ.ก.ส. ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียน ไปทดลองใช้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อลดปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนของเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผลผลิตทุเรียนกำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้” นายธนารัตน์ ย้ำ
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ค่าความอ่อน-แก่ของทุเรียน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีการหาน้ำหนักแห้งแบบมาตรฐาน คือ การอบแห้งโดยตู้อบลมร้อน ซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการ ใช้เวลาในการทดสอบไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง และเป็นการทดสอบแบบทำลายตัวอย่าง แต่การใช้เครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนที่ถ่ายทอดสู่เกษตรกรในครั้งนี้ จะเป็นการวัดค่าน้ำหนักแห้ง โดยไม่ทำลายตัวอย่างและรู้ผลภายใน 5 วินาที ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่สามารถใช้เครื่องนี้ในการสุ่มวัดน้ำหนักแห้งเพื่อควบคุมการตัดทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกสู่ตลาด แทนการใช้วิธีการเดิมในห้องปฏิบัติการได้
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้วางแนวทางร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการติดตามและรวบรวมผลการใช้เครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียน เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบ ควบคุมผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และสร้างความยั่งยืนในการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ต่อไป.