ถอดรหัส! สารพัดโครงการรัฐรอบใหม่! ใคร? ได้อะไร?
ด่วน! ถอดรหัสทุกโครงการรัฐสู้โควิด-19 ทั้งมาตรการระยะที่ 1 และระยะที่ 2…อะไรเป็นอะไร? ใครได้สิทธิ? ได้ท่าไหร่? อย่างไร? เมื่อใด? ที่สำคัญเม็ดเงินรอบใหม่ 2.35 แสนล้าน จะกระตุ้นจีดีพีปี’64 ได้แค่ไหน? สั้น กระชับ เข้าใจง่าย…อ่านเลย!
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดให้สื่อมวลชนประจำกระทรวงการคลังสอบทานรายละเอียดของโครงการรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับ มาตรการระยะที่ 1 (บรรเทาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดฯ ระลอก 3) พร้อมอธิบายเชิงหลักการกับมาตรการระยะที่ 2 (เพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจ)
เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ทำการถอดรหัสเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจกับโครงการรัฐ ทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการระยะที่ 1 และ 2 ดังนี้…
มาตรการระยะที่ 1 (เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564) เข้าสู่ที่ประชุม ครม. และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา
1.มาตรการด้านการเงิน ประกอบด้วย…
1.1 สินเชื่อสู้ภัยโควิดฯ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเกษตรกร กู้เงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ปลอดต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก อายุสินเชื่อ 3 ปี โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้กู้แห่งละ 1 หมื่นล้านบาท เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ ครม.เห็นชอบ (5 พฤษภาคม) ครอบคลุมผู้มีสิทธิ 1 ล้านคน
1.2 พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยขยายเวลาการชำระหนี้ทั้งเงินและดอกเบี้ยจากเดิมสิ้นสุด 30 มิถุนายน เป็น 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเงินไว้ใช้จ่ายในระหว่างนี้ อันจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
2.มาตรการด้านการคลัง ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอายุโครงการยังไม่สิ้นสุด ประกอบด้วย…
2.1 โครงการเราชนะ หลังจาก ครม.ขยายอายุโครงการจาก 31 พฤษภาคม เป็น 30 มิถุนายน รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะโอนสิทธิการใช้จ่ายฯเพิ่มให้อัตโนมัตอีก 2 งวด (2 สัปดาห์) งวดละ 1,000 บาท รวม 2,000 บาทต่อคน ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ สามารถใช้จ่ายได้ถึง 30 มิถุนายน โดยจะเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ โครงการฯครอบคลุมผู้มีสิทธิ 32.9 ล้านคน เม็ดเงินรวมที่รัฐบาลใส่มาให้ 8.5 หมื่นล้านบาท
2.2 โครงการ ม33 เรารักกัน แม้ต้นทางจะอยู่กับกระทรวงแรงงาน แต่เม็ดเงินและช่องทางใช่จ่าย ยังอยู่กับกระทรวงการคลัง รายละเอียด…กระทรวงแรงงานจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เอง โดยใช้จ่ายผ่านช่องทาง G-Wallet แอปฯเป๋าตังเช่นเดิม วงเงินที่ได้ก็เท่าโครงการเราชนะ นั่นคือ 2,000 บาทต่อคน รวมถึงรูปแบบและระยะเวลาการใช้จ่ายยังเหมือนกัน
สำหรับ มาตรการระยะ 2 แม้ ครม.จะมีมติเห็นชอบในหลักการ ทว่ามีคำถามถึงโครงการที่เกี่ยวข้องมากมาย จึงทำให้ น.ส.กุลยา จำต้องตอบคำถามแบบองค์รวมผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 พฤษคมที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้…
มาตรการระยะ 2 (เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564) ทั้งนี้ ภาครัฐต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯได้เสียก่อน การดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนจึงจะเกิดขึ้น! (ระหว่างนี้ สศค.และกระทรวงการคลัง กำลังทำรายละเอียด เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และครม.ในโอกาสต่อไป) ประกอบด้วย…
1.มาตรการลดค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย…
1.1 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน โดยจ่ายเพิ่มให้อีกคนละ 200 บาทเป็นเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม – ธันวาคม) รวม 1,200 บาทต่อคน วงเงินรวม 1.68 หมื่นล้านบาท
1.2 เพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มพิเศษฯ ครอบคลุม 2.5 ล้านคน โดยวงเงินและเงื่อนไขทุกอย่างเหมือนกับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกประการ วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท
2.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โดยจะเพิ่มจำนวนคนได้สิทธิจากเดิม 15 ล้านคน เป็น 31 ล้านคน แต่ละคนจะได้วงเงินร่วมจ่าย (Co-Pay) 3,000 บาท วงเงินรวม 9.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้รับสิทธิใช้จ่ายในไตรมาส 3 นี้
และ 3.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและสังคมไทย นั่นทำให้ ผอ.สศค.ต้องออกมาให้ความกระจ่างชัด!
แน่นอน คนในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มพิเศษฯ ไม่น่าจะมีโอกาสเลือกโครงการลักษณะร่วมจ่ายฯ จึงเหลือให้คนในกลุ่มระดับกลาง และระดับบน ได้เลือกอย่างหนึ่งอย่างใด? ระหว่าง…โครงการคนละครึ่ง หรือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
เพราะ…โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ การใช้จ่ายจะเป็นในลักษณะ…โอนเงินตัวเองเข้าแอปฯเป๋าตัง แล้วใช้จ่ายในเงื่อนไขที่กำหนด นั่นคือ ใช้กับร้านค้าทั้งที่เป็นบุคคลธรรมและนิติบุคคล จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) และสมัครเข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แยกการใช้จ่ายเป็น 2 ก้อน…
ก้อน 40,000 บาทแรก จะได้รับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) คืนใส่ให้แอปฯเป๋าตัง 10% และ ก้อน 20,000 บาทที่เหลือ จะได้รับ e-Voucher 15%
โดยรัฐขีดเส้นให้ใช้จ่ายในก้อน 40,000 บาทแรก และคืน e-Voucher ให้วันละ 10% ของเงิน 5,000 บาท หมายความว่า…จะใช้จ่ายเท่าใดก็ได้ แต่รัฐให้แค่ 10% ของเงิน 5,000 บาทต่อวัน หรือ 500 บาท และจะสะสมเอาไว้ตลอดทั้งเดือน เช่นเดียวกับ 15% ในก้อน 20,000 บาทหลัง ที่รัฐจะโอนให้ต่อวงเงินใช้จ่ายแต่ละวันที่ 5,000 บาท หรือ 750 บาทต่อวัน
จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน แต่จะเริ่มโอน e-Voucher ให้ในเดือนถัดไป คือ สิงหาคม-ตุลาคม โดยระยะเวลาการใช้จ่ายจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2564
โดยระยะที่ 2 จะครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 51 ล้านคน วงเงินใช้จ่ายรวม 1.4 แสนล้าน (หากรวมระยะที่ 1 ด้วย จะใช้วงเงินรวม 2.35 แสนล้านบาท)
น.ส.กุลยา คาดว่า เม็ดเงินทุกโครงการจากมาตรการระยะที่ 1 (รวมมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชน เช่น ลดค่าประปา ใช้ฟรีค่าไฟฟ้า ฯลฯ) และ ระยะที่ 2 จะผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท
เม็ดเงินจำนวนนี้ สามารถจะสร้างมูลค่าของจีดีพีไม่ต่ำกว่า 1% แต่เนื่องจากคาดการณ์ล่าสุดของจีดีพี ที่ สศค.เพิ่งแถลงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งประเมินจีดีพีไว้ที่ 2.3% โดยค่าต่ำสุดและสูงสุดอยู่ที่ 1.8% – 2.8% นั้น มีบางส่วนของมาตรการระยะที่ 1 รวมไว้แล้ว
จึงไม่อาจนำยอดเต็ม 1% ไปรวมกับจีดีพีที่ 2.3% ได้
อย่างไรก็ตาม ผอ.สศค.ยังเชื่อว่า…หากทุกอย่างอยู่ในประมาณการที่วางไว้ เช่น ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.92 บาทต่อดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน และอื่นๆ ก็มีแนวโน้มว่า จีดีพีในปี 2564 อาจถึงค่าสูงสุดที่ 2.8% ได้เช่นกัน.