ดัน Startup ไทยสู่ธุรกิจแพทย์-สุขภาพ
TCELS จับมือ MassChallenge พันธมิตรระดับโลก ดัน Startup ไทย ก้าวสู่ธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพระดับโลก หวังผลักดันไทยสู่ความเป็น “เมดดิเคิลฮับ” ในเอเชียเร็วขึ้น เผย 7 บริษัทชนะเลิศรับเงิน2 แสนบาท พร้อมสิทธิ์เข้าร่วมอบรมเชิงลึกกับ MassChallenge ตลอด 5 เดือนในสหรัฐ เชื่อ Startup ไทยจะเติบโตและขยายฐานธุรกิจในต่างแดนได้อย่างมั่นคง
ดร.พัชนาภรณ์ วงษา รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการจัดโครงการ Thailand Life Science Startup 2018 ว่า มุ่งเน้นสร้าง Startup ดาวรุ่ง เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ที่ไม่เพียงขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หากยังเป็นส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่ความเป็น “เมดดิเคิลฮับ” ในเอเชียได้เร็วขึ้น
“โครงการนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ซึ่งไม่เพียงขยายแฟลตฟอร์มที่กว้างขึ้น หากยังได้พันธมิตรระดับโลกอย่าง MassChallenge สหรัฐอเมริกา มาร่วมให้คำปรึกษาและนำ Startup ที่ชนะเลิศ 7 อันดับแรกไปร่วมอบรมเชิงลึกเพื่อขยายตลาดไปต่างประเทศ”
ดร.พัชราภรณ์ กล่าวอีกว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า TCELS จะยังดำเนินโครงการเช่นนี้ต่อไป โดยเน้นเรื่องชีววิทยาศาสตร์เพื่อต่อยอด Startup ที่มีศักยภาพและมีจุดเด่น เพื่อให้ก้าวไปสู่ระดับโลกที่ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น อันจะตอบโจทย์และเป้าหมายธุรกิจ นั่นคือ การได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการร่วมทุนและขยายธุรกิจในระดับสากล จนถึงปลายทางสุดท้าย คือ การขายกิจการให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ หาก Startup ไทยมีความต้องการเช่นนั้น
ด้าน Miss Brittany McDonough Director of Global Partnership, MassChallenge กล่าวว่า เราเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจแก่บริษัทต่างๆ ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สามารถก้าวสู่เวทีระดับโลก มีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่พร้อมดำเนินโครงการความมือในการพัฒนา Mentor (คำปรึกษา)และผู้ประกอบ Startup ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุน Startup ที่มีฐานเทคโนโลยี มีความพร้อมและมีศักยภาพสูง เข้าสู่ธุรกิจด้านชีวิวิทยาทศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
“กระบวนการที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การเฟ้นหาทีมผู้ประกอบการ Startup ทางด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนทุนแบบให้เปล่าในรูปแบบ Seed Fund (ช่วงเริ่มต้น) ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายคือการทำให้ Startup เติบโตและมีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอื่นๆ เกิดความตื่นตัว และสร้างการรับรู้ในวงกว้างต่อไป” Miss Brittany ระบุ
ด้าน น.ส.ศิริพร อริยพุทธรัตน์ CEO บริษัท KINN WORD WIDE จำกัด 1 ใน 7 ของผู้ชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นถั่งเช่าหรือเห็ดหลินจือสกัดบรรจุแคปซูล ล้วนได้รับการพัฒนามาจากสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ผ่านการนำมาสกัดอย่างเข้มข้น สร้างประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคจนได้รับการยอมรับจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าร่วมประกวดโครงการ hailand Life Science Startup 2018 ครั้งนี้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีระดับโลกต่อไป
ขณะที่ น.ส.จิตลดา เพชรไพบูลย์ ผู้จัดการโครงการต่างประเทศ ACNOC TEAM เจ้าของผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาผิวจากสารสกัดเปลือกมังคุดไทย กล่าวว่า การติด 1 ใน 7 ของบริษัทที่จะได้รับโอกาสเข้าร่วมอบรมเชิงลึกกับ MassChallenge ตลอดระยะเวลา 5 เดือนนั้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีแผนจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในจีน ผ่านแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่ได้เจรจากับ 5 ยักษ์ใหญ่ใน
ธุรกิจอีคอมเมิร์ชของจีนบ้างแล้ว แต่ยังติดขัดปัญหาด้านการเงิน แต่จากนี้ไป เชื่อว่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวคงจะหมดไป หลังจากที่บริษัทได้รับโอกาสดีๆ จาก TCELS แล้ว
สำหรับ 7 บริษัทที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัลรายละ 200,000 บาท พร้อมรับสิทธิ์เข้าร่วมอบรมเชิงลึกกับ MassChallenge ประกอบด้วย 1.บริษัท ACNOC TEAM 2.บริษัท D and N Research 3.บริษัทKINN WORD WIDE 4.บริษัท Never Ever Falls 5.บริษัท Scubie 6.บริษัท Step Sole-Lution และ 7.The Possible