เปิดฐานะการเงินไทย รายได้ 2.5 ล้านล้าน รายจ่าย 3.5 ล้านล้าน
ครม. รับทราบรายงานการเงินแผ่นดิน 2563 และรายงานการเงินรวมภาครัฐ 2563
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ
1. รายงานการเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แล้ว ซึ่งนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภาต่อไป ตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 75 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
–รัฐบาลมีสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,951,674.99 ล้านบาท หนี้สินและภาระผูกพัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,434,034.96 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีสินทรัพย์สุทธิ จำนวนทั้งสิ้น 517,640.03 ล้านบาท
–รัฐบาลมีรายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,564,392.65 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 111,833.72 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.18 ประกอบด้วย รายได้แผ่นดินจากหน่วยงาน เงินนำส่งจากหน่วยงาน และเงินปันผลของแผ่นดิน ส่วนเกินมูลค่าพันธบัตรตัดจำหน่าย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้อื่น
–รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,502,819.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 481,585.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.94 ประกอบด้วย รายจ่ายจากเงินงบประมาณจากหน่วยงาน ค่าใช้จ่ายตามมาตรการของรัฐ ค่าใช้จ่ายอุดหนุนหน่วยงานภาครัฐ และค่าใช้จ่ายอื่น
ผลจากการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ จำนวน 938,427.08 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคงเหลือ ณ วันปลายงวด 30 กันยายน จำนวน 611,381.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 73,956.64 ล้านบาท และ เงินคงคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีรายรับสูงกว่ารายจ่าย จำนวน 58,149.24 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 179,630.56 ล้านบาท
2. รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ อปท.สิ้นสุด ณ 30 กันยายน 2563 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังสรุป
งบแสดงฐานะการเงิน
– สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น จำนวน 31,334,122.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,720,311.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.81 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุ เงินลงทุนระยะยาวภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
–หนี้สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 21,742,324.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,156,675.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.62 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญคือ หนี้สินไม่หมุนเวียน จำนวน 10,365,395.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 521,235.03 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.29 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รัฐบาลจึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
งบแสดงผลการดำเนินงานการเงิน
–รายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,080,230.85 ล้านบาท ลดลง 953,688.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.87 ประกอบด้วยรายการที่สำคัญ คือ รายได้แผ่นดิน จำนวน 2,142,257.85 ล้านบาท ลดลง 210,685.63 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.95 จากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัว ส่งผลกระทบให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการและภาษีจากสินค้าและบริการลดลง
– ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 7,119,460.17 ล้านบาท ลดลง 499,113.86 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.55 จากรัฐวิสาหกิจมีการขายสินค้าและการให้บริการลดลงจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน้า 2019 ส่งผลให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการลดลง
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังสรุปว่า ผลการดำเนินงานทางการเงินในภาพรวมของรัฐ ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เมื่อนำผลการดำเนินงานทางการเงินของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ มารวมกับผลการดำเนินงานของรัฐบาล (รายงานการเงินแผ่นดิน) จะมีผลการดำเนินงานทางการเงินสุทธิดีขึ้น เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีการจัดเก็บรายได้อื่นที่ไม่ต้องส่งคลัง เช่น กองทุน มหาวิทยาลัยและองค์กรมหาชน เป็นต้น รวมทั้งผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ที่มีผลประกอบการที่ดีเป็นบวก เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังมีผลการดำเนินงานทางการเงินเป็นบวกจากที่ยังคงได้รับรายได้ภาษีจัดสรรและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จะทำให้ภาพรวมของภาครัฐมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ทั้งสิ้น 39,229.32 ล้านบาท รวมทั้งรัฐบาลยังจะได้ให้ความสำคัญในการจัดเก็บรายได้ โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ เพื่อนำสินทรัพย์ของภาครัฐมาสร้างรายได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย