JCR อวยสุดๆ! คงความน่าเชื่อถือไทย “A-”
JCR อวยไทยสุดๆ คงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ระดับเดิม “A –“ พร้อมคงมุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ มั่นใจจีดีพีปี’64 โต 3% เชื่อ! รัฐไทยบริหารการคลังและหนี้สาธารณะได้ ชี้!ภาคต่างประเทศยังสุดแกร่ง แต่จับตาประเด็นการเมืองไทย
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า วันที่ 26 เมษายน 2564 Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ A – และยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) แม้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ภายหลังจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เริ่มฟื้นตัว และ JCR คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะกลับมาเติบโตประมาณร้อยละ 3
2) รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Debt to GDP ratio) สูงขึ้น อย่างไรก็ดี JCR ยังคงเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังและบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ระดับที่เหมาะสมได้ เนื่องจากมีการบริหารจัดการทางคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
3) สำหรับภาคธนาคารและภาคต่างประเทศ พบว่า ภาคธนาคารมีเสถียรภาพ และภาคต่างประเทศแข็งแกร่ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีขีดความสามารถในการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต
4) ประเด็นที่ JCR ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการปฏิรูปนโยบาย (Policy reform) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High-tech manufacturing industry) เพื่อการพัฒนาประเทศ.