สบน.ไม่หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้น-บาทผันผวน
สบน.ไม่กังวลบริหารหนี้สาธารณะและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มั่นใจการบังคับใช้พ.ร.บ.วินัยเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญจะทำให้ข้อมูลการก่อสร้างและยอดหนี้ถูกต้องมากขึ้น
“การบริหารหนี้สาธารณะในช่วงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับ สบน.เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะมีสัดส่วนที่เป็นหนี้ระยะยาวสูงถึง 90% ซึ่งในส่วนนี้ได้มีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตายตัวไว้แล้ว ขณะที่ หนี้ระยะสั้นที่ใกล้จะครบกำหนดชำระเงินก็มีเพียง 10% จึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561 ในงานสัมมนาเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารระ ภายใต้กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นายภูศักดิ์ กล่าวว่า การบริหารหนี้สาธารณะในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างผันผวนก็ไม่มีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากได้มีการปิดความเสี่ยงไว้หมดแล้ว โดยหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลปัจจุบันมีอยู่ไม่ถึง 1% ของหนี้รัฐบาลทั้งหมด 5.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนพ.ค.2561 พบว่า รัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศ 94,484 ล้านบาท โดยจำนวนหนี้ดังกล่าวได้มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว 61,194 ล้านบาท และอีก 33,289 ล้านบาทยังไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยง
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ให้คำนิยามของคำว่า “หน่วยงานรัฐ” ที่มีความกว้างขวางขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงหน่วยงานของรัฐสภาและหน่วยงานของศาล, องค์การมหาชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมไปจนถึงกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้มีหน่วยงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายใหม่นี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,681 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 159 แห่ง
โดยเฉพาะ อปท.ทั่วประเทศนั้น ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า จากนี้ไป หากจะมีการกู้เงินที่เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต ก็จำเป็นต้องจัดทำแผน การกู้เงิน และบริหารหนี้ รายงานการกู้เงินและสถานะหนี้คงค้าง เพื่อให้ สบน.ได้รับทราบและจัดทำเป็นรายงานการ เงินรวมของภาครัฐที่จากนี้ต่อไปจะมีการแยกออกเป็นรายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ, รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ และรายงานการเงินรวมของ อปท. เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 210 วันนับแต่วันสิ้นปีงบ ประมาณ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป
“หน่วยงานที่เพิ่มขึ้นมา 2,000 กว่าหน่วยนี้ เป็นหน้าที่ที่ สบน.จะต้องกำกับดูแลและรายงาน เพราะได้มีการขยายคำจำกัดคำว่า “หน่วยงานภาครัฐ” เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งจะครอบคลุมหน่วยงานอิสระ และอปท. เดิมหน่วย งานเหล่านี้มีอำนาจกู้เงิน แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายนี้ แต่ในกฎหมายใหม่นี้เขียนคลุมไว้หมด ดังนั้นพวกเขาจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และ สบน.ต้องขอรายงานจากหน่วยงานเหล่านี้ เช่น การกู้ที่เป็นภาระหนี้ในอนาคต ต้องชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น ต้นทุน ประโยชน์”
“ปัจจุบัน อปท.ทั่วประเทศมีหนี้คงค้างราว 29,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า ไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สาธารณะโดยรวมของประเทศ แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีอำนาจในการกู้เงินได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี หาก อปท.แต่ละแห่งมีศักยภาพในการบริหารการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะทำให้เกิดโครงการดีๆ ที่มีประโยชน์และส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่นเองด้วย” ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด