สหรัฐฯจัดไทย” monitoring list” ในรายงานค่าเงิน
ธปท.ระบุสหรัฐฯยังคงให้ไทยอยู่ในชั้น monitoring list ในรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เชื่อไม่กระทบการค้าการลงทุนของ2 ประเทศ
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งระบุว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน monitoring list ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน (เดือนธันวาคม 2563) เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP
ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ติดตามประเทศใน monitoring list ต่อเนื่องไปอีก2 รอบการประเมิน โดยการประเมินรอบนี้ มีคู่ค้า 11 ประเทศที่จัดอยู่ใน monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเม็กซิโก
ธปท. ขอย้ำว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ อีกทั้งการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์ โดย ธปท. จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด