ดึงแบงก์ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
แบงก์ชาติดึงแบงก์พาณิชย์ดูแลสังคมยั่งยืน เน้นสินเชื่อเอกชนดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตแรงงาน สกัดปล่อยกู้ธุรกิจแรงงานผิดกฎหมาย หรือปล่อยน้ำเสีย หนุนสินเชื่อสีเขียว ประกาศจับมือสถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์ “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” รองรับผู้ถือบัตรสวัสดิการ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้บริหารสถาบันการเงินตื่นตัวต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม ด้วยการยึดหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การให้สินเชื่อพลังงานสะอาด การสร้างกระบวนการพิจารณาสินเชื่อกับเอกชนที่ดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการระงับสินเชื่อกับเอกชนที่ปล่อยของเสียหรือมลภาวะเป็นพิษสู่สิ่งแวดล้อม การปฏิเสธเอกชนที่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผิดกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมการเงินให้กับภาคประชาชนในระดับฐานราก ทั้งหมดเป็นการสร้างมาตรการรองรับการดำรงชีวิตของคนไทยในอนาคต
“ปัจจุบันหลายองค์กรมักจะเน้นเครื่องมือระยะสั้น เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจการเงิน กำไรของผู้ถือหุ้น ราคาหุ้น เงินโบนัส แต่กลับหลงลืมหรือละเลยเรื่องระยะยาว ธปท.จึงขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ช่วยกันดูแลสังคมและส่งเสริมความถูกต้อง ในเมื่อคนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร เราก็ต้องช่วยกันดูแลคนกลุ่มนี้ และร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชั่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การฟอกเงิน การปั่นหุ้น เป็นต้น” นายวิรไท ย้ำและว่า ภาคการเงินสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องดังกล่าวได้ เพื่อต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งร่วมมือกันเพื่อให้สิ่งนี้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพราะขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญดูแลความยั่งยืนทางสังคม
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การดูแลสังคมผ่านการปล่อยกู้ให้กับโครงลงทุนรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างสังคมยั่งยืนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลต้องชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการโครงการเพื่อสังคม ขณะเดียวกัน ธปท. ก็จะต้องกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อให้กับเอกชนรายใหญ่ เน้นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพสังคม รวมถึงเปิดทางให้รายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น
นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยกรรสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวว่า แนวโน้มการระดมทุนด้วย “สินเชื่อสีเขียว” หรือ “กรีน บอนด์” จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเจ้าของเงินลงทุนต้องการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือสังคม นอกจากการหวังผลกำไร ซึ่งตอนนี้เริ่มมีธนาคารบางแห่งระดมทุนด้วย “กรีน บอนด์” บ้างแล้ว ทั้งนี้ เมื่อสถาบันการเงินตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น ธปท. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะผู้กำกับดูแลอาจต้องสร้างแรงจูงใจเกี่ยวกับ “กรีน บอนด์” มากขึ้น
ทั้งนี้ มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “การให้บริการเงินฝากเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน” หรือบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ระหว่างผู้บริหาร 14สถาบันการเงินสมาชิกสมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เพื่อสร้างบัญชีเงินฝากที่เน้นใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่มีค่าใช้จ่ายรักษาบัญชี การเปิดบัญชี ขณะที่บัตรเดบิตไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี หรือค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพื่อเป็นช่องทางให้รายย่อยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเข้าถึงบริการทางการต้นทุนต่ำ.