คนร.จี้สร้างบ้านเคหะฯแสนยูนิต-ปิด “บ.ลูก รสก.”ไม่ตอบโจทย์
คนร. ที่มีนายกฯเป็นประธานฯ สั่ง กคช. เร่งทำโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา สร้างโอกาสให้ประชาชน” ผ่านโครงการ PPP ตั้งเป้า 1 แสนหน่วยภายใน 5 ปี เน้นพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด เผย! รัฐวิสาหกิจ 25 แห่งเจ๊ง! รอปิด-ถอนลงทุนอีก 27 แห่ง พร้อมยุบ “บริษัทลูก” หากไม่ตอบโจทย์นโยบายรัฐ
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวถึงผลการ คนร. ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุม คนร. ได้พิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. เห็นด้วยในหลักการที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดทำโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย
“บ้านเคหะสุขประชา” โดยมีเป้าหมายที่จำนวน 100,000 หน่วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาค ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีละ 20,000 หน่วย) ภายใต้แนวคิด “บ้านเคหะสุขประชา = บ้านพร้อมอาชีพ”
โดยมอบหมายให้ กคช. จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว โดยให้มีการพิจารณานำการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) มาใช้ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำเสนอแนวทางการดำเนินการให้ คนร. พิจารณาอีกครั้งต่อไป
2. รับทราบการดำเนินงานตามความเห็นและข้อเสนอแนะของ คนร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2564
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ได้มีความเห็นในเชิงนโยบายต่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจในเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19
รวมทั้ง ให้เน้นการนำ BCG Model มาใช้ในการวางแผนดำเนินการ และให้ความสำคัญการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดย สคร. ได้นำความเห็นเชิงนโยบายข้างต้นไปปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ สำหรับรัฐวิสาหกิจใช้ในการวางแผนในปี 2565 ด้วยแล้ว
3. รับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ของบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจที่ปัจจุบันมีจำนวน
123 แห่ง โดยมี บริษัทในเครือที่มีผลกำไรจำนวน 71 แห่ง ขาดทุนจำนวน 25 แห่ง และอยู่ระหว่างยุบเลิก/ถอนการลงทุนจำนวน 27 แห่ง โดย คนร. ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาความจำเป็นและกำกับดูแลบริษัทในเครือให้ดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ สร้างผลกำไรให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีผลตอบแทนให้แก่รัฐวิสาหกิจ
สำหรับบริษัทในเครือที่ไม่จำเป็นต่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ก็ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณายุติกิจการโดยเร็วต่อไป.