เลขาฯต้านโกงแนะ 5 ปม สู้การเมืองไร้จริยธรรม
เลขาฯองค์การต้านโกง ชี้เคสท์ไวรัสผับทองหล่อ ปมลึกมีพฤติกรรมทำผิดกม.และคอรัปชั่น แนะรัฐบาลวางกรอบ 5 ข้อ คุมนักการเมืองไร้จริยธรรม ด้าน ผอ.พีอาร์ รฟท. โต้สื่อ มั่วแพร่ไทม์ไลน์ ผู้ว่าการฯ ยืนยัน ไทม์ไลน์ก่อนหน้านี้จริงทุกเม็ด เผย! คนดัง “คุณชายอดัม” ติดโควิดฯ อ้างติดจากน้องเที่ยวผับทองหล่อ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผอ.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุกรณีที่สำนักข่าวบางแห่งเผยแพร่ภาพและไทม์ไลน์การติดเชื้อไวรัสโควิดของ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. โดยมีการนำเสนอข่าวเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน และพยายามที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง จาก ไทม์ไลน์ที่นายนิรุฒ ได้แจ้งต่อหน่วยงานทางสาธารณสุขและสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นั้น
ทั้งนี้ รฟท.ขอยืนยันว่า ไทม์ไลน์เป็นไปตามข้อเท็จจริงทุกประการ ซึ่งการตัดทอนมาเป็นบางส่วน และพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงของสื่อมวลชนบางสำนักนั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความสับสนให้กับสังคม ซึ่งเป็นผลเสียต่อการควบคุมสถานการณ์โควิดของทางภาครัฐ และผู้ว่าการ รฟท. โดยปัจจุบันนายนิรุฒอยู่ระหว่างการเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกต้องทางการแพทย์
ขณะที่คนดังอย่าง “คุณชายอดัม” หรือ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล โอรสใน หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ได้โพสต์ประกาศติดเชื้อโควิด-19 พร้อมขอเวลาเรียบเรียงไทม์ไลน์ โดยย้ำว่า “ผลตรวจ Covid-19 ผมเป็น Positive นะครับ น่าจะติดมาจากน้องที่ไปทองหล่อมาอีกทีครับ เดี๋ยวขอเวลาไล่ Timeline นิดนึงนะครับ”
ส่วนกรณี “ไทยคู่ฟ้า คลับ” ที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ บัญญัติศัพท์ขึ้นมานั้น ล่าสุด ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “วิกฤติจริยธรรมนักการเมืองที่ผับทองหล่อ” ตอนหนึ่งว่า ต้นเหตุการระบาดใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนทั่วไป เคยเกิดมาแล้วจากสนามมวยของกองทัพ บ่อนการพนัน แรงงานผิดกฎหมาย ล่าสุดที่ผับย่านทองหล่อ ทุกกรณีล้วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายและมีพฤติกรรมคอร์รัปชันอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
กรณีผับทองหล่อสร้างความไม่พอให้ประชาชนอย่างมาก เนื่องจากมีรัฐมนตรีและนักธุรกิจคณะใหญ่โคจรร่วมกันไปติดโควิดในสถานที่นั้น ทุกคนละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับประชาชน กลายเป็นว่าการระบาดใหญ่รอบนี้คนที่เป็นรัฐมนตรีนำทีมไปทำเรื่องไม่เหมาะสมเสียเอง เหตุการณ์นี้จึงสะท้อนปัญหา ‘จริยธรรม’ ของนักการเมืองที่เรื้อรัง เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมบอบช้ำซ้ำซาก สิ่งที่รัฐบาลควรทำโดยด่วน คือ
1. ใช้กฎหมายเอาผิดเจ้าของผับ ผู้บริหารของ กทม. ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ที่ละเลยในการตรวจตรา บังคับใช้กฎหมาย
2. ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเรียกสามัญสำนึกด้านจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่วมกันฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรค นอกจากการด่าประณามของสังคมแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านจริยธรรม คือ ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ควรทำหน้าที่วินิจฉัยว่าพฤติกรรมของพวกเขาเป็นความผิดหรือไม่
3. ออกมาตรการควบคุมที่ชัดเจนและเข้มงวดสำหรับสถานประกอบการแต่ละประเภททั่วประเทศ เพื่อให้มีการตรวจตราเตรียมพร้อม ควบคุมกฎหมายกฎระเบียบทุกอย่างก่อนที่จะเปิดให้สถานประกอบการเหล่านี้กลับมาดำเนินการต่อไปได้
4. รัฐบาลควรจัดให้มีช่องทางสายด่วนให้ประชาชนร้องเรียนเมื่อพบเห็นผู้ฝ่าฝืนมาตรการโควิดฯนี้
5. ต้องเป็นกติกาว่า ทุกมาตรการที่รัฐแนะให้ประชาชนปฏิบัติ เจ้าหน้าของรัฐทุกคนต้องปฏิบัติเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้น เช่น การโหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ การเปิดเผยไทม์ไลน์ต่อเจ้าหน้าที่และสาธารณชน.