รัฐคลายเข้มจัดซื้อฯวงเงินไม่เกินร้อยล. ฉีดเงินใส่ระบบ
รัฐนิ่งไม่ได้! ล่าสุด กรมบัญชีกลางผ่อนคลายเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรณีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท หนุนมาตรการใช้จ่ายภาครัฐ หวังเร่งฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง (บก.) กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง มาตรการการคลังด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ว่า เป็นไปเพื่อเร่งรัดสนับสนุนให้เม็ดเงินจากระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพื่อจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อประโยชน์ในการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของหน่วยรับงบประมาณ
รวมทั้งติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐอื่นๆ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (กวจ) จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การนำร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมกำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 5,000,000 บาท ปรับเป็นวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่จะให้มีการเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้
2. การซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ตามข้อ 48 ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงระยะเวลาในการให้ผู้ประกอบการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นข้อเสนอ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อ หรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ และการจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้างที่ปรึกษา เผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
“แนวทางปฏิบัติฯดังกล่าว กำหนดให้ใช้กับเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เท่านั้น เพื่อให้การเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณฯ เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว สอดรับกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ อันจะส่งผลให้มีเม็ดเงินจากระบบงบประมาณรายจ่ายและการใช้จ่ายภาครัฐอื่นๆ ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว” อธิบดีกรมบัญชีกลาง ย้ำ
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ.